ลักษณะทั่วไปของพุทธธรรม 2 อย่าง
ลักษณะทั่วไปของพุทธธรรมนั้น สรุปได้ ๒ อย่าง คือ
๑. แสดงหลักความจริงสายกลาง ที่เรียกว่า "มัชเฌนธรรม" หรือ เรียกเต็มว่า "มัชเฌนธรรมเทศนา" ว่าด้วยความจริงตามแนวของเหตุผลบริสุทธิ์ตามกระบวนการของธรรมชาติ นำมาแสดงเพื่อประโยชน์ในทางปฏิบัติในชีวิตจริงเท่านั้น ไม่ส่งเสริมความพยายามที่ีจะเข้าถึงสัจธรรมด้วยวิธีถกเถียงสร้างทฤษฎีต่างๆ ขึ้นแล้วยึดมั่นปกป้องทฤษฎีนั้นๆ ด้วยการเก็งความจริงทางปรัชญา
๒. แสดงข้อปฏิบัติสายกลาง ที่เรียกว่า "มัชฌิมาปฏิปทา" อันเป็นหลักการครองชีวิตของผู้ฝึกอบรมตน ผู้รู้เท่าทันชีวิต ไม่หลงงมงาย มุ่งผลสำเร็จ คือ ความสุข สะอาด สว่าง สงบ เป็นอิสระ ที่สามารถมองเห็นได้ในชีวิตนี้ ในทางปฏิบัติ ความเป็นทางสายกลางนี้เป็นไปโดยสัมพันธ์กับองค์ประกอบอื่นๆ เช่น สภาพชีวิตของบรรพชิต หรือ คฤหัสถ์ เป็นต้น
พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการกระทำ (กรรมวาท หรือ กิริยวาท) เป็นศาสนาแห่งความเพียรพยายาม (วิริยวาท) (เช่น องฺ.ติก.20/577/369) ไม่ใช่ศาสนาแห่งการอ้อนวอนปรารถนา หรือ ศาสนาแห่งความห่วงหวังกังวล
การสั่งสอนธรรมของพระพุทธเจ้าทรงมุ่งผลในทางปฏิบัติ ให้ทุกคนจัดการกับชีวิตที่เป็นอยู่จริงๆ ในโลกนี้ และเริ่มแต่บัดนี้ ความรู้ในหลักที่เรียกว่า มัชเฌนธรรมเทศนา ก็ดี การประพฤติตามมรรคาที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ก็ดี เป็นสิ่งที่ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในสภาพ และระดับชีวิตอย่างใด สามารถเข้าใจ และนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ตามสมควรแก่สภาพ และระดับชีวิตนั้นๆ ถ้าความห่วงใยในเรื่องชีวิตหลังจากโลกนี้มีอยู่ ก็จงทำชีวิตดีงามอย่างที่ต้องการนั้นให้เกิดมีเป็นจริงเป็นจังขึ้นมาด้วยการประพฤิตปฏิบัติแต่บัดนี้ จนมั่นใจตนเองว่า จะต้องไปดีโดยไม่ต้องกังวลหรือหวาดหวั่นต่อโลกหน้านั้นเลย (เช่น สํ.ม.14/1572/487)
ทรงสอนพุทธธรรมโดยปริยายต่างๆ เป็นอันมาก มีคำสอนหลายระดับ ทั้งสำหรับผู้ครองเรือน ผู้ดำรงชีวิตอยู่ในสังคม ผู้สละเรือนแล้ว ทั้งคำสอนเพื่อประโยชน์ทางวัตถุ และเพื่อประโยชน์ลึกซึ้งทางจิตใจ เพื่อให้ทุกคนได้รับประโยชน์จากพุทธธรรมทั่วถึงกัน
เมื่อสิ้นยุคขององค์พระศาสดาแล้ว เวลาล่วงไป และคำสอนไปในถิ่นต่างๆ ความเข้าใจในพุทธธรรมก็แปรไปจากเดิม และแตกต่างกันไปได้หลายอย่าง เพราะผู้ถ่ายทอดสืบต่อมีพื้นความรู้การศึกษาอบรม สติปัญญาแตกต่างกัน ตีความหมายพุทธธรรมแผกกันไป บ้าง นำเอาความรู้ความเชื่อถือเดิมจากลัทธิศาสนาอื่นเข้ามาผสมแทรกแซง บ้าง อิทธิพลศาสนาและวัฒนธรรมในท้องถิ่นเข้าผสมผสาน บ้าง คำสอนบางแง่เด่นขึ้น บางแง่เลือนรางลง เพราะการย้ำและเลี่ยงความสนใจ ตามความโน้มเอียงและความถนัดของผู้รักษาคำสอน บ้าง ทำให้เกิดการแตกแยกออกเป็นนิกายต่างๆ เช่น ที่รู้จักกันบัดนี้เป็นมหายาน กับ เถรวาท ตลอดจนนิกายย่อยๆ ที่ซอยแยกออกไป
สำหรับเถรวาทนั้น แม้จะได้ชื่อว่าเป็นนิกายที่รักษาแบบแผน และคำสอนดั้งเดิมไว้ได้แม่นยำ ก็มิใช่จะพ้นไปจากความแปรเปลี่ยนได้โดยสิ้นเชิง คำสอนบางส่วนแม้ที่อยู่ในคำภีร์เอง ก็ยังเป็นปัญหาที่คนรุ่นปัจจุบันต้องนำมาถกเถียงคิดค้นหาหลักฐานยืนยันหรือปฏิเสธความเป็นของแท้แต่ดั้งเดิม ยิ่งความรู้ความเข้าใจที่ประชาชนเชื่อถือ และปฏิบัติอยู่ด้วยแล้ว ความคลาดเคลื่อนก็ยิ่งมีได้มากและชัดเจนยิ่งขึ้น บางกรณีถึงกับเสมือนเป็นตรงข้ามกับคำสอนเดิม หรือ เกือบจะกลายไปเป็นลัทธิอื่นที่คำสอนเดิมคัดค้านแล้วก็มี
ยกตัวอย่างในประเทศไทยนี้ เมื่อพูดถึงคำว่า "กรรม" ความเข้าใจของคนทั่วไปก็จะเพ่งไปยังกาละส่วนอดีตเจาะจงเอาการกระทำในชาติที่ล่วงแล้วหรือชาติก่อนๆ บ้าง เพ่งไปยังปรากฎการณ์ส่วนผล คือ นึกถึงผลที่ปรากฎในปัจจุบันของการกระทำให้อดีต บ้าง เพ่งไปยังแง่ที่เสียหายเลวร้าย คือ การกระทำชั่วฝ่ายเดียว บ้าง เพ่งไปยังอำนาจแสดงผลร้ายของการกระทำความชั่วในชาติก่อน บ้าง และโดยมากเป็นความเข้าใจตามแง่ต่างๆ เหล่านี้ รวมๆกันไปหมด ซึ่งเมื่อพิจารณาตัดสินตามหลักกรรมที่แท้จริงในพุทธธรรมแล้ว จะเห็นได้ชัดว่าเป็นความเข้าใจที่ห่างไกลจากความหมายที่แท้จริงเป็นอันมาก
แม้ข้อธรรมอื่นๆ ตลอดจนคำบัญญัติทางธรรมแต่ละคำๆ เช่น อารมณ์ วิปัสสนา วิญญาณ บารมี สันโดษ อุเบกขา อธิษฐาน บริกรรม ภาวนา กาม โลกีย์ โลกุตระ บุญ บาป อิจฉา ฯลฯ ก็ล้วนมีความหมายพิเศษในความเข้าใจของประชาชน ซึ่งผิดแปลกไปจากความหมายดั้งเดิมในพุทธธรรม โดยตัวความหมายเอง บ้าง โดยขอบเขตความหมาย บ้าง มากน้อยต่างกันไปในแต่ละคำนั้นๆ
ในการศึกษาพุทธธรรม จำเป็นต้องแยกความหมายในความเข้าใจของประชาชนส่วนที่คลาดเคลื่อนนี้ออกไปต่างหาก จึงจะสามารถเข้าใจความหมายที่แท้จริงได้
ความคิดเห็น
โพสต์ความคิดเห็น