วันอาทิตย์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2563

วิธีคิดแบบสามัญลักษณ์

 ๓. วิธีคิดแบบสามัญลักษณ์

              วิธีคิดแบบสามัญลักษณ์  หรือ  วิธีคิดแบบรู้เท่าทันธรรมดา   คือ มองอย่างรู้เท่าทันความเป็นอยู่เป็นไปของสิ่งทั้งหลาย  ซึ่งจะต้องเป็นอย่างนั้นๆ  ตามธรรมดาของมันเอง  โดยเฉพาะก็มุ่งที่ประดาสัตว์และสิ่งที่คนทั่วไปจะรู้เข้าใจถึงได้   ในฐานที่มันเป็นสิ่งซึ่งเกิดจากเหตุปัจจัยต่างๆ  ปรุงแต่งขึ้น  จะต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย

              ธรรมดาที่ว่านั้น  ได้แก่  อาการที่สิ่งทั้งหลายทั้งปวง  ที่เกิดจากเหตุปัจจัยปรุงแต่ง  เมื่อเกิดขึันแล้ว ก็จะต้องดับไป  ไม่เที่ยงแท้  ไม่คงที่  ไม่ยั่งยืน  ไม่คงอยู่ตลอดไป  เรียกว่าเป็น  อนิจจัง

              ธรรมดานั้นเช่นกัน  คือ  อาการที่ปัจจัยทั้งหลายทั้งภายในและภายนอกทุกอย่าง   ต่างก็เกิดดับเปลี่ยนแปลไปตลอดเวลาเสมอเหมือนกัน  เมื่อเข้ามาสัมพันธ์กัน  จึงเกิดความขัดแย้ง  ทำให้สิ่งเหล่านั้นมีสภาวะถูกบีบคั้นกดดัน  ไม่อาจคงอยู่ในสภาพเดิมได้   จะต้องมีความแปรปรวนเปลี่ยนสลาย  เรียกว่าเป็น ทุกข์                   

              ธรรมดานั้นเองมีพร้อมอยู่ด้วยว่า   ในเมื่อสิ่งทั้งหลายเป็นสภาวะ  คือ  ภาวะของมันเอง  ดังเช่นเป็นสังขารที่ต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย มันก็ไม่อาจเป็นของใคร  ไม่อาจเป็นไปตามความปรารถนาของใคร  ไม่มีใครเอาความคิดอยากบังมันได้   ไม่มีใครเป็นเจ้าของครอบครองมันได้จริง   เช่นเดียวกับที่ไม่อาจมีตัวขึ้นมาไม่ว่าข้างนอกหรือข้างในมัน   ที่จะสั่งการบัญชาบังคับอะไรๆ  ได้จริง   เพราะมันเป็นอยู่ของมันตามธรรมดา  โดยเป็นสังขารที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย  ไม่ใช่เป็นไปตามใจอยากของใคร  เรียกว่าเป็น  อนัตตา           

             รวมความคือ   รู้เท่าทันว่า    สิ่งทั้งหลายที่รู้จักเข้าใจไปเกี่ยวข้องด้วยนั้น  เป็นธรรมชาติ   ซึ่งมีลักษณะความเป็นไปโดยทั่วไปเสมอเหมือนกันตามธรรมดาของมัน    ในฐานะที่เป็นของปรุงแต่ง   เกิดจากเหตุปัจจัย  และขึ้นต่อเหตุปัจจัยทั้งหลายเช่นเดียวกัน


     วิธีคิดแบบสามัญลักษณะนี้แบ่งได้เป็น ๒  ขั้นตอน

             ขั้นที่หนึ่ง    คือ   รู้เท่าทัน และยอมรับความจริง   เป็นขั้นวางใจวางท่าทีต่อสิ่งทั้งหลายโดยสอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติ  เป็นท่าทีแห่งปัญญา    ท่าทีแห่งความเป็นอิสระ  ไม่ถูกมัดตัว

             แม้เมื่อประสบสถานการณ์ที่ไม่ปรารถนา  หรือมีเรื่องราวไม่น่าพึงใจเกิดขึ้นแล้ว  คิดขึ้นได้   ว่าสิ่งนั้นๆ  เหตุการณ์นั้นๆ   เป็นไปตามคติธรรมดา   เป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน  คิดได้อย่างนี้   ก็เป็นท่าทีแห่งการปลงตก  ถอนตัวขึ้นได้   หายจากความทุกข์  หรืออย่างน้อยก็ทำให้ทุกข์นั้นบรรเทาลง

              ไว้ขึ้นไปอีก  เมื่อประสบสถานการณ์  มีเรื่องราวเช่นนั้นเกิดขึ้น   เพียงตั้งจิตสำนึกขึ้นได้ในเวลานั้นว่า เราจมองตามความเป็นจริง     ไม่มองตามอยากให้เป็นหรืออยากไม่ให้เป็น   การที่จะเป็นทุกข์  ก็ผ่อนคลายลงทันที  เพราะเปลื้องตัวเป็นอิสระได้   ไม่เอาตัวเข้าไปให้ถูกกดถูกบีบ   (ความจริงคือไม่สร้างตัวตนขึ้นให้ถูกกดถูกบีบ)


              ขั้นที่สอง   คือ  แก้ไขและทำการไปตามเหตุปัจจัย   เป็นขั้นปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายโดยสอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติ   เป็นการปฏิบัติด้วยปัญญา   ด้วยความรู้เท่าทัน  เป็นอิสระ  ไม่ถูกมัดตัว

              ความหมายในข้อนี้คือ   เมื่อรู้อยู่แล้วว่า   สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย  ขึ้นต่อเหตุปัจจัย  เราต้องการให้มันเป็นอย่างไร    ก็ศึกษาให้รู้เข้าใจเหตุปัจจัยทั้งหลาย   ที่จะทำให้มันเป็นอย่างนั้น  แล้วแก้ไข  ทำการ   จัดการที่ตัวเหตุปัจจัยเหล่านั้น     เมื่อทำเหตุปัจจัยพร้อมบริบูรณ์ที่จะให้มันเป็นอย่างนั้นแล้ว  ถึงเราจะอยาก หรือไม่อยาก    มันก็จะต้องเป็นไปอย่างนั้น   เมื่อเหตุปัจจัยไม่พร้อมที่จะให้เป็น   ถึงเราจะอยากหรือไม่อยาก     มันก็จะไม่เป็นอย่างนั้น   กล่าวสั้น   คือ   แก้ไขด้วยความรู้   และแก้ที่ตัวเหตุปัจจัย  ไม่ใช่แก้ด้วยความอยาก

              ในทางปฏิบัติ    ก็เพียงแต่กำหนดรู้ความอยากของตน  และกำหนดรู้เหตุปัจจัย  แล้วแก้ไข  กระทำการที่เหตุปัจจัย  เมื่อปฏิบัติได้อย่างนี้   ก็ถอนตัวเป็นอิสระได้   ไม่ถูกความอยากพาตัว (ความจริงคือสร้างตัว) เข้าไปให้ถูกกดถูกบีบ   เป็นการปฏิบัติอย่างไม่ถูกมัดตัว  เป็นอันว่า  ทำการตรงตามเหตุปัจจัย  และทั้งปล่อยให้สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย  เป็นวิธีปฏิบัติที่ทั้งได้ผลดีที่สุด  และตนเองก็ไม่เป็นทุกข์

              การปฏิบัติตามวิธีคิดแบบที่  ๓  ในขั้นที่สองนี้   สัมพันธ์กับวิธีคิดแบบที่  ๔   กล่าวคือใช้วิธีคิดแบบที่  ๔  มารับช่วงต่อไป

              ในการเจริญวิปัสสนา   ตามประเพณีปฏิบัติซึ่งได้วางกันไว้เป็นแบบแผนดังบรรยายไว้ในชั้นอรรถกถา  ท่านถือหมวดธรรมคือ  วิสุทธิ  ๗  เป็นแม่บท - (รถวินีตสูตร  ม.มู.12/292-300/287-297)   เอาลำดับญาณที่แสดงไว้ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามัคค์เป็นมาตรฐาน  และยึดวิธีจำแนกปรากฎการณ์โดยนามรูปเป็นข้อพิจารณาขั้นพื้นฐาน


              ตามหลักการนี้  ท่านได้จัดวางข้อปฏิบัติคือการเจริญวิปัสสนานั้น    เป็นระบบที่มีขั้นตอนแน่นอนต่อเนื่องเป็นลำดับ   และวิธีคิด  ๓  แบบที่กล่าวมาแล้วนี้   ท่านก็นำไปจัดเป็นขั้นตอนอยู่ในลำดับด้วย  โดยจัดให้เป็นวิธีคิดวิธีพิจารณาที่ต่อเนื่องเป็นชุดเดียวกัน  แต่ลำดับของท่านนั้น  ไม่ตรงกับลำดับข้อในที่นี้ทีเดียวนัก  กล่าวคือ  (ดูวิสุทฺธิ.  3/206-274  สงฺคห.54-55)

             ลำดับที่  ๑  ใช้วิธีคิดแบบแยกแยะ   หรือวิเคราะห์ประกอบ  (วิธีที่ ๒)   กำหนดแยกปรากฎการณ์ต่างๆเป็นนามธรม กับ รูปธรรม   ว่าอะไรเป็นรูป  อะไรเป็นนาม   จำพวกรูปมีอะไรบ้าง     จำพวกนามมีอะไรบ้าง  มีลักษณะ  มีคุณสมบัติเป็นอย่างไร ๆ   เรียกว่าขั้น   นามรูปปริเคราะห์  บ้าง   นามรูปววัตถาน  บ้าง   นามรูปปริจเฉท  หรือ  สังขารปริจเฉท บ้าง  และจัดเป็น  ทิฏฐิวิสุทธิ  (วิสุทธิที่ ๓)  

               อย่างไรก็ตาม  ความประสงค์ของท่าน   มุ่งเน้นให้กำหนดจับและรู้จักสภาวะหรือองค์ประกอบตามที่พบเห็น   ตามที่เป็นอยู่  ว่าอย่างไหนเป็นนาม   อย่างไหนเป็นรูป   มากกว่าจะมุ่งเน้นในแง่ของการพยายามแจกแจง


               ลำดับที่  ๒  ใช้วิธีคิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย  (วิธีที่ ๑)   พิจารณาค้นหาเหตุปัจจัยของนามรูปนั้น  ในแง่ต่างๆ  เช่น  พิจารณาตามแนวปฏิจจสมุปบาท   พิจารณาตามแนวอวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม และอาหาร   พิจารณาตามแนวกระบวนการรับรู้  (เช่น  จักขุวิญญาณ  อาศัยจักขุ  กับ รูปารมณ์  เป็นต้น)  พิจารณาตามแนวกรรมวัฏฏ์ วิปากวัฏฏ์ เป็นต้น    แต่รวมความแล้วก็อยู่ในขอบเขตของปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง  เป็นแต่แยกบางแง่ออกไปเน้นพิเศษ

               ขั้นนี้เรียกว่า  นามรูปปัจจัยปริคคหะ   หรือ  เรียกสั้นๆว่า  ปัจจัยปริคคหะ  (ปัจจัยปริเคราะห์)  เมื่อทำสำเร็จ  เกิดความรู้เข้าใจ   ก็เป็น  ธรรมฐิติญาณ   หรือ ยถาภูตญาณ  หรือ สัมมาทัสสนะ  จัดเป็น  กังขาวิตรณวิสุทธิ  (วิสุทธิที่  ๔)


               ลำดับที่  ๓   ใช้วิธีคิดแบบรู้เท่าทันธรรมดา   หรือ วิธีคิดโดยสามัญลักษณ์  (วิธีที่ ๓)  นำเอานามรูป หรือสังขารนั้นมาพิจารณา   ตามหลักแห่งคติธรรมดาของไตรลักษณ์   ให้เห็นภาวะที่เป็นของไม่เที่ยง  ไม่คงที่  เป็นอนิจจัง   ถูกปัจจัยขัดแย้งบีบคั้น  เป็นทุกข์  ไม่มีไม่เป็นโดยตัวของมันเอง   ใครๆ เข้ายึดถือเป็นเจ้าของครอบครองบีบด้วยความอยากไม่ได้  เป็นอนัตตา

             ขั้นนี้เรียกว่า  สัมมสนญาณ  เป็นตอนเบื้องต้นของ มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ (วิสุทธิข้อที่ ๕)


             ข้อความอ้างจากบาลี  ซึ่งใช้วิธีคิดแบบที่ ๒  และแบบที่  ๓   พิจารณาไปพร้อมๆกัน  ขอยกมาให้ดูเพียงเล็กน้อย  พอเป็นตัวอย่าง

             "ภิกษุทั้งหลาย   เธอทั้งหลายจงมนสิการโดยแยบคาย   (โยนิโสมนสิการ)   ซึ่งรูป  และจง พิจารณาเห็นอนิจจตาแห่งรูปตามความเป็นจริง ... จงพิจารณาโดยแยบคาย  ซึ่งเวทนา  และจงพิจารณาเห็นอนิจจตาแห่งเวทนาตามความเป็นจริง ... จงพิจารณาโดยแยบคาย  ซึ่งสัญญา  และจงพิจารณาเห็นอนิจจตาแห่งสัญญาตามความเป็นจริง  ... จงพิจารณาโดยแยบคาย  ซึ่งสังขาร  และจงพิจารณาเห็นอนิจจตาแห่งสังขารตามความเป็นจริง  ... จงพิจารณาโดยแยบคาย  ซึ่งวิญญาณ  และจงพิจารณาเห็นอนิจจตาแห่งวิญญาณตามความเป็นจริง..."  (สํ.ข.17/104/64)    

           "ภิกษุผู้มีสุตะ  พึงมนสิการโดยแยบคาย  ซึ่งอุปาทานขันธ์ ๕  โดยความเป็นของไม่เที่ยง  โดยความเป็นของถูกปัจจัยบีบคั้น ... โดยความเป็นของมิใช่อัตตา"   (สํ.ข.17/315/205.  วิธีพิจาณาแบบนี้  พึงดูในพระไตรปิฎกบาลีเล่ม ๑๗ เกือบตลอดเล่ม  และมีกระจายอยู่มากในเล่มอื่น)


          พุทธพจน์ต่อไปนี้   แสดงการคิดแบบสืบสาวหาเหตุ  ต่อด้วยการคิดแบบสามัญลักษณ์  เพื่อวัตถุประสงค์แห่งการรู้เท่าทันตามความเป็นจริง  ให้ใจเป็นอิสระ  มิให้เกิดทุกข์

             "ภิกษุทั้งหลาย   เธอทั้งหลายจงเป็นผู้มีตนเป็นที่พึ่ง  มีตนเป็นสรณะ  ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะ  จงมีธรรมเป็นที่พึ่ง  มีธรรมเป็นสรณะ  ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะ  อยู่เถิด;

             "เมื่อเธอทั้งหลายจะเป็นผู้มีตนเป็นที่พึ่ง ... มีธรรมเป็นสรณะ  ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะ  เป็นอยู่  ก็พึงมนสิการโดยแยบคายว่า  โสกะ  ปริเทวะ  ทุกข์  โทมนัส   และความผิดหวังคับแค้นใจทั้งหลาย  เกิดจากอะไร  มีอะไรเป็นแดนเกิด

             "ภิกษุทั้งหลาย  โสกะ  ปริเทวะ  ทุกข์  โทมนัส   และความผิดหวังคับแค้นใจทั้งหลาย  เกิดจากอะไร  มีอะไรเป็นแดนเกิด ?   ปุถุชนในโลกนี้   ผู้ขาดสุตะ  (ไม่ได้เรียนรู้)  มิได้พบเห็นอริยชน ไม่ฉลาดในอริยธรรม   ไม่ได้ศึกษาในอริยธรรม  มิได้พบเห็นสัตบุรุษ  ไม่ฉลาดในสัปปุริสธรรม  ไม่ได้ศึกษาในสัปปุริสธรรม  ย่อมมองเห็นรูปเป็นตน  มองเห็นตนมีรูป   มองเห็นรู้ในตน  หรือ มองเห็นตนในรูป  รูปของเขานั้นผันแปรไป  กลายเป็นอย่างอื่น   โสกะ  ปริเทวะ  ทุกข์  โทมนัส   และความผิดหวังคับแค้นใจ  ย่อมเกิดขึ้นแก่เขา  เพราะการที่รูปผันแปรไปกลายเป็นอื่น

              "ส่วนภิกษุรู้ชัดว่า  รูป ... เวทนา ...  สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณ   เป็นสิ่งไม่เที่ยง  แปรปรวนได้ จางหายดับสิ้นได้   มองเห็นตามเป็นจริงด้วยสัมมาปัญญาอย่างนี้ว่า   รูป ... เวทนา ...  สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณ  ทั้งปวง  ล้วนไม่เที่ยง   ถูกปัจจัยบีบคั้น   มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา   ทั้งในกาลก่อน  ทั้งในบัดนี้   ก็เช่นเดียวกัน  เธอย่อมละ โสกะ  ปริเทวะ  ทุกข์  โทมนัส   และความผิดหวังคับแค้นใจทั้งหลายได้   เพราะละโสกะ เป็นต้นนั้นได้    เธอย่อมไม่ต้องหวั่นหวาดเสียวใจ  เมื่อไม่หวั่นหวาดเสียวใจ   ย่อมอยู่เป็นสุข  ภิกษุผู้อยู่เป็นสุข   เรียกได้ว่า   ตทังนิพพานแล้ว"  (สํ.ข.17/87-88/53-55 -  ตทังคนิพพาน  = นิพพานเฉพาะกรณี)  

(โยนิโสมนสิการแบบสามัญลักษณะ จบ)







วิธีคิดแบบแยกแยะส่วนประกอบ

 ๒.วิธีคิดแบบแยกแยะส่วนประกอบ  (โยนิโสมนสิการแบบที่สอง) 

            วิธีคิดแบบแยกแยะส่วนประกอบ  หรือกระจายเนื้อหา เป็นการคิดที่มุ่งให้มอง  และให้รู้จักสิ่งทั้งหลายตามสภาวะของมันเองอีกแบบหนึ่ง

            ในทางธรรม  ท่านมักใช้พิจารณาเพื่อให้เห็นความไม่มีแก่นสาร  หรือ ความไม่เป็นตัวเป็นตนที่แท้จริงของสิ่งทั้งหลาย   ให้หายยึดติดถือมั่นในสมมติบัญญัติ   โดยเฉพาะการพิจารณาเห็นสัตว์บุคคล  เป็นเพียงการประชุมกันเข้าขององค์ประกอบต่างๆ  ที่เรียกว่า ขันธ์  ๕  และขันธ์  ๕  แต่ละอย่างก็เกิดขึ้นจากส่วนประกอบย่อยต่อไปอีก   การพิจารณาเช่นนี้   ช่วยให้มองเห็นความเป็นอนัตตา

             แต่การที่จะมองเห็นสภาวะเช่นนี้ได้ชัดเจน   มักต้องอาศัยวิธีคิดแบบที่ ๑ และหรือแบบที่ ๓  เข้าร่วม  โดยพิจารณาไปพร้อมๆกัน   กล่าวคือ  เมื่อแยกแยะส่วนประกอบออก   ก็เห็นสภาวะที่องค์ประกอบเหล่านั้นอาศัยกัน  และขึ้นต่อเหตุปัจจัยต่างๆ  ที่เกี่ยวข้อง ไม่เป็นตัวของมันเองแท้จริง   ยิ่งกว่านั้น  องค์ประกอบและเหตุปัจจัยต่างๆ  เหล่านี้  ล้วนเป็นไปตามกฎธรรมดา  คือ  มีการเกิดดับอยู่ตลอดเวลา  ไม่เที่ยงแท้  ไม่คงที่  ไม่ยั่งยืน

            ภาวะที่เกิดขึ้นแล้วต้องดับไป  และต้องขึ้นต่อเหตุปัจจัยต่างๆ ถูกเหตุปัจจัยทั้งหลายบีบคั้นขัดแย้งนั้น   ถ้าไม่มองในแง่สืบสาวเหตุปัจจัยตามวิธีที่ ๑  ซึ่งอาจจะยากสักหน่อย  ก็มองได้ในแง่ลักษณะทั่วไปที่เป็นธรรมดาสามัญของสิ่งทั้งหลาย  ซึ่งอยู่ในขอบเขตของวิธีคิดแบบที่ ๓  ในบาลีท่านมักกล่าวถึงวิธีคิดแบบที่ ๒  นี้  รวมพร้อมไปด้วยกันกับแบบที่  ๓  

            แต่ในชั้นอรรถกถา  ซึ่งเป็นแนวของอภิธรรมสมัยหลัง  นิยมจัดวิธีคิดแบบที่  ๒   นี้เป็นขั้นหนึ่งต่างหาก และถือเป็น วิภัชชวิธี  อย่างหนึ่ง -  (วิสุทฺธิ.ฎีกา  3/45,397,349,518  การแยกแยะดูตามเหตุปัจจัยแบบกปฏิจจสมุปบาท  ก็คือเป็นวิภัชชวิธีเช่นกัน ฯลฯ)  นอกจากนั้น  ยังนิยมจำแนกขั้นพื้นฐาน  โดยถือนามรูปเป็นหลัก   ยิ่งกว่าจะจำแนกเป็นขันธ์ ๕ ทันที

             ความจริง   วิธีคิดแบบนี้   มิใช่มีแต่การจำแนกแยกแยะ   หรือแจกแจงออกไปอย่างเดียวเท่านั้น  แต่มีการจัดหมวดหมู่ หรือจัดประเภทไปด้วยพร้อมกัน   แต่ท่านเน้นในแง่การจำแนกแยกแยะ  จึงเรียกว่า  "วิภัชชะ"   ถ้าจะเรียกอย่างสมัยใหม่ก็คงว่า  วิธีคิดแบบวิเคราะห์

             ในการบำเพ็ญวิปัสสนาตามประเพณีปฏิบัติ   ที่บรรยายไว้ในชั้นอรรถกถา  เรียกการคิดพิจารณาที่แยกแยะโดยถือเอานามรูปเป็นหลักในขั้นต้นนี้ว่า   นามรูปววัตถาน  หรือ นามรูปปริคคหะ - (วิสุทฺธิ.3/205-219 สงฺคหะ  55 บางทีเรียก  นามรูปปริจเฉท บ้าง  สังขารปริเฉท บ้าง)  คือ  ไม่มองสัตว์บุคคลตามสมมติบัญญัติ  ว่าเป็นเขาเป็นเรา   เป็นนายนั่นนางนี่    แต่มองตามสภาวะแยกออกไปว่า  เป็นนามธรรม และรูปธรรม   กำหนดส่วนประกอบทั้งหลายที่ประชุมกันอยู่แต่ละอย่างๆ ว่า  อย่างนั้น เป็นรูป   อย่างนี้ เป็นนาม  รูปคือสภาวะที่มีลักษณะอย่างนี้   นามคือสภาวะที่มีลักษณะอย่างนี้   สิ่งนี้มีลักษณะอย่างนี้   จึงจัดเป็นรูป   สิ่งนี้มีลักษณะอย่างนี้   จึงจัดเป็นนาม  ดังนี้เป็นต้น

             เมื่อแยกแยะออกไปแล้ว ก็มีแต่นาม กับ  รูป  หรือนามธรรม กับ รูปธรรม  เมื่อหัดมอง หรือฝึกความคิดอย่างนี้จนชำนาญ    ในเวลาที่พบเห็นสัตว์ และสิ่งต่างๆ    ก็จะมองเห็นเป็นเพียงกองแห่งนามธรรม และรูปธรรม  เป็นเพียงสภาวะ  ว่างเปล่าจากความเป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขา  นับว่ามีกระแสความคิดความเข้าใจ  ที่คอยช่วยต้านทานไม่ให้คิดอย่างหลงใหลหมายมั่นติดสมมติบัญญัติมากเกินไป


       ตัวอย่างการใช้ความคิดแนวนี้ในบาลี  พึงเห็น ดังนี้

              "เพราะคุมส่วนประกอบทั้งหลายเข้าด้วยกัน  จึงมีศัพท์ว่า  "รถ"   ฉันใด   เมื่อขันธ์ทั้งหลายมีอยู่  สมมติว่า  "สัตว์"   จึงมี   ฉันนั้น"    (สํ.ส.15/554/198)  

               "ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย   ช่องว่าง  อาศัยเครื่องไม้  เถารัด ดินฉาบ  และหญ้ามุงล้อมเข้า  ย่อมถึงความนับว่า   "เรือน"  ฉันใด    ช่องว่าง    อาศัยกระดูก   เอ็น  เนื้อ  และหนังแวดล้อมแล้ว  ย่อมถึงความนับว่า  "รูป"   ฉันนั้น  ...  เวทนา  ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณ ... การคุมเข้า  การประชุมกัน  การประมวลเข้าด้วยกันแห่งอุปาทานขันธ์  ๕  เหล่านี้  เป็นอย่างนี้"  (ม.มู.12/346/358)

                 "ภิกษุทั้งหลาย  แม่น้ำคงคานี้  พึงพาเอากลุ่มฟองน้ำใหญ่มา  คนตาดีมองดู  เพ่งพินิจ พิจารณาโดยแยบคาย  เมื่อเขามองดู  เพ่งพินิจ   พิจารณาโดยแยบคาย  ก็จะปรากฎเป็นแต่สภาพว่างเปล่า   ไร้แก่นสารเท่านั้น   แก่นสารในกลุ่มฟองน้ำ  จะมีได้อย่างไร  ฉันใด

                   "รูปก็ฉันนั้นเหมือนกัน  ไม่ว่าอย่างหนึ่งอย่างใด  เป็นอดีต  อนาคต  หรือปัจจุบันก็ตาม  ฯลฯ  ไกลหรือใกล้ก็ตาม  ภิกษุมองดูรูปนั้น  เพ่งพินิจ   พิจารณาโดยแยบคาย   เมื่อเธอมองดู เพ่งพินิจ   พิจารณาโดยแยบคาย   ก็จะปรากฎเป็นแต่สภาพว่าง   เปล่า  ไม่มีแก่นสาร   แก่นสารในรูป  จะพึงมีได้อย่างไร"

 ต่อจากนี้  ตรัสถึงเวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณ  และมีคาถาสรุปว่า

                     "พระอาทิตยพันธ์ุ  (พระพุทธเจ้า)  ได้ตรัสแสดงไว้ว่า   รูปอุปมาเหมือนฟูมฟองแม่น้ำ  เวทนาอุปมาเหมือนฟองน้ำฝน  สัญญาอุปมาเหมือนพยับแดด   สังขารอุปมาเหมือนต้นกล้วย   วิญญาณอุปมาเหมือนมายากล   ภิกษุเพ่งพินิจ   พิจารณาโดยแยบคาย  ซึ่งเบญจขันธ์นั้น  โดยประการใดๆ ก็มีแต่สภาวะที่ว่างเปล่า ..."  (สํ.ข.17/242-7/171-4) 

จบ


วิภัชชวาที    "ผู้กล่าวจำแนก"  "ผู้แยกแยะพูด"    เป็นคุณบทคือคำแสดงคุณลักษณะอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้า  หมายความว่า  ทรงแสดงธรรมแยกแยะแจกแจงออกไปให้เห็นว่า   สิ่งทั้งหลายเกิดจากส่วนประกอบย่อยๆ  มาประชุมกันเข้าอย่างไร   เช่น  แยกแยะกระจายนามรูปออกเป็นขันธ์  ๕  อายตนะ  ๑๒  ธาตุ  ๑๘  อินทรีย์ ๒๒   สิ่งทั้งหลายมีด้านที่เป็นคุณและด้านที่เป็นโทษอย่างไร  เรื่องนั้นๆ   มีข้อจริงข้อเท็จอะไรบ้าง  การกระทำอย่างนั้นๆ มีแง่ถูกแง่ผิดแง่ที่ดีและแง่ไม่ดีประการใด  เป็นต้น   เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจสิ่งนั้น  เรื่องนั้น   อย่างชัดเจน   มองเห็นสิ่งทั้งหลายตามที่เป็นจริง   เช่น  มองเห็นความเป็นอนัตตา เป็นต้น   ไม่มองอย่างตีคลุมหรือเห็นแต่ด้านเดียวแล้วยึดติดในทิฏฐิต่างๆ   อันทำให้ไม่เข้าใจถึงความจริงแท้ตามสภาวะ


สมมติ    (สํ+มติ)   การรู้ร่วมกัน,  การตกลงกัน,  การมีมติร่วมกัน หรือยอมรับร่วมกัน

สมมติเทพ        เทวดาโดยสมมติ   คือโดยความตกลงหรือยอมรับร่วมกันของมนุษย์  ได้แก่ พระราชา  เป็นต้น

สมมติสัจจะ     จริงโดยสมมติ   คือ  โดยความตกลงหมายรู้ร่วมกันของมนุษย์   เช่น   นาย  ก.  นาย ข.  ช้าง  ม้า  วัว  ควาย  หนังสือ  พ่อ  แม่  ลูก  เพื่อน  เป็นต้น  ซึ่งเมื่อกล่าวตามสภาวะ  หรือโดยปรมัตถ์แล้ว  ก็เป็นเพียงสังขาร หรือ นาม รูป   หรือขันธ์  ๕  เท่านั้น

(นักธรรมะบ้านเราทำความเข้าใจความหมายคำว่า สมมติ บัญญัติ ให้ชัด)  

บัญญัติ     การตั้งขึ้น,  การกำหนดเรียก,  การเรียกชื่อ,  ข้อที่ตั้งขึ้น,  การวางเป็นกฎไว้, ข้อบังคับ




                   

                     

วันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2563

โยนิโสมนสิการ, อโยนิโสมนสิการ


โยนิโส โดยแยบคาย, โดยถ่องแท้, โดยวิธีที่ถูกต้อง, ตั้งแต่ต้นตลอดสาย, โดยตลอด

โยนิโสมนสิการ การทำในใจโดยแยบคาย, กระทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย, พิจารณาโดยแยบคาย คือ พิจารณาเพื่อเข้าถึงความจริงโดยสืบค้นหาเหตุผลไปตามลำดับจนถึงต้นเหตุ แยกแยะองค์ประกอบจนมองเห็นตัวสภาวะ และความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย หรือ ตริตรองให้รู้สิ่งที่ดีที่ชั่ว ยังกุศลธรรมให้เกิดขึ้นโดยอุบายที่ชอบ ซึ่งจะมิให้เกิดอวิชชาและตัณหา, ความรู้จักคิด, คิดถูกวิธี

อโยนิโสมนสิการ การทำในใจโดยไม่แยบคาย, การไม่ใช้ปัญญาพิจารณา, ความไม่รู้จักคิด, การปล่อยให้อวิชชาตัณหาครอบงำนำความคิด

วิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการ

วิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการ ก็คือการนำเอาโยนิโสมนสิการมาใช้ในทางปฏิบัติ หรือ โยนิโสมนสิการที่เป็นภาคปฏิบัติการ

วิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการ หรือเรียกสั้นๆว่า วิธีโยนิโสมนสิการนี้ แม้จะมีหลายอย่างหลายวิธี แต่เมื่อว่าโดยหลักการ ก็มี ๒ แบบ คือ

โยนิโสมนสิการที่มุ่งสกัด หรือ กำจัดอวิชชาโดยตรง

โยนิโสมนสิการที่มุ่งสกัด หรือบรรเทาตัณหา

โยนิโสมนสิการที่มุ่งกำจัดอวิชชาโดยตรงนั้น ตามปกติเป็นแบบที่ต้องใช้ในการปฏิบัติธรรมจนถึงที่สุด เพราะทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจตามเป็นจริง ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการตรัสรู้

ส่วนโยนิโสมนสิการแบบสกัด หรือบรรเทาตัณหา มักใช้เป็นข้อปฏิบัติขั้นต้นๆ ซึ่งมุ่งเตรียมพื้นฐานหรือพัฒนาตนเองในด้านคุณธรรม ให้เป็นผู้พร้อมสำหรับการปฏิบัติขั้นสูงขึ้นไป เพราะเป็นเพียงขั้นขัดเกลากิเลส แต่โยนิโสมนสิการหลายวิธีใช้ประโยชน์ได้ทั้งสองอย่าง คือ ทั้งกำจัดอวิชชา และบรรเทาตัณหาไปพร้อมกัน

วิธีโยนิโสมนสิการเท่าที่พบในบาลี พอประมวลเป็นแบบใหญ่ๆ ได้ดังนี้

๑. วิธีคิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย

๒. วิธีคิดแบบแยกแยะส่วนประกอบ

๓.วิธีคิดแบบสามัญลักษณ์

๔.วิธีคิดแบบอริยสัจ/คิดแบบแก้ปัญหา

๕.วิธีคิดแบบอรรถธรรมสัมพันธ์

๖. วิธีคิดแบบเห็นคุณ โทษ และทางออก

๗.วิธีคิดแบบคุณค่าแท้ คุณค่าเทียม

๘.วิธีคิดแบบเร้ากุศล

๙.วิธีคิดแบบอยู่กับปัจจุบัน

๑๐.วิธีคิดแบบวิภัชชวาท



ลักษณะความคิดตามอวิชชา - ตัณหา ดังนี้

๑. เมื่ออวิชชา เป็นตัวเด่น ความคิดมีลักษณะติดตันวกวนอยู่ที่แง่หนึ่งตอนหนึ่งอย่างพร่ามัว ขาดความสัมพันธ์ ไม่รู้ทางไป หรือไม่ก็ฟุ่งซ่านสับสน ไม่เป็นระเบียบ ปรุงแต่งอย่างไร้เหตุผล เช่น ภาพในความคิดของคนหวาดกลัว

๒. เมื่อตัณหา เป็นตัวเด่น ความคิดมีลักษณะโน้มเอียงไปตามความยินดียินร้าย ความชอบใจไม่ชอบใจ หรือความติดใจ ติดพันครุ่นอยู่กับสิ่งที่ชอบหรือชังนั้น และปรุงแต่งความคิดไปตามความชอบความชัง

เมื่อพูดลึกลงไปอีกในด้านสภาวะ อวิชชาเป็นฐานก่อตัวของตัณหา และตัณหาเป็นตัวเสริมกำลังให้แก่อวิชชา ดังนั้น ถ้าจะกำจัดความชั่วร้ายให้สิ้นเชิง ก็จะต้องกำจัดให้ถึงอวิชชา

"ภิกษุทั้งหลาย ปัจจัยเพื่อความเกิดขึ้นแห่งสัมมาทิฏฐิ มี ๒ ประการ ดังนี้ คือ ปรโตโฆสะ และโยนิโสมนสิการ" (องฺ.ทุก.20/371/110 ฯลฯ)


อัตถะ, อรรถ (พระสูตรแยกเป็น ๒)



อัตถะ 2 นัย

อรรถ, อัตถะ 1. ประโยชน์, ผลที่มุ่งหมาย, จุดหมาย, อัตถะ ๓ คือ ๑. ทิฏฐธัมมิกัตถะ (ประโยชน์ปัจจุบัน, ประโยชน์ในภพนี้) ๒. สัมปรายิกัตถะ (ประโยชน์เบื้องหน้า, ประโยชน์ในภพหน้า) ๓. ปรมัตถะ (ประโยชน์อย่างยิ่ง, ประโยชน์สูงสุด คือ พระนิพพาน) อัตถะ ๓ อีกหมวดหนึ่ง คือ ๑. อัตตัตถะ (ประโยชน์ตน) ๒. ปรัตถะ (ประโยชน์ผู้อื่น) ๓. อุภยัตถะ (ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย)

2. ความหมาย ความหมายแห่งพุทธพจน์, พระสูตร พระธรรมเทศนา หรือ พุทธพจน์ ว่าโดยการแปลความหมาย แยกเป็น อัตถะ ๒ คือ ๑. เนยยัตถะ (พระสูตร) ซึ่งมีความหมายที่จะต้องไขความ, พุทธพจน์ที่ตรัสตามสมมติ อันจะต้องเข้าใจความจริงแท้ที่ซ้อนอยู่อีกชั้นหนึ่ง เช่น ที่ตรัสเรื่องบุคคล ตัวตน เรา เขา ว่าบุคคล ๔ ประเภท, ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน เป็นต้น ๒. นีตัตถะ (พระสูตร) ซึ่งมีความหมายที่แสดงชัดโดยตรงแล้ว, พุทธพจน์ที่ตรัสโดยปรมัตถ์ ซึ่งมีความหมายตรงไปตรงมาตามสภาวะ เช่น ที่ตรัสว่า ขันธ์ อายตนะ ธาตุ รูป เสียง กลิ่น รส เป็นต้น

(ควรทำความเข้าใจ อัตถะ นัยที่ 2 นี้ให้ขาด คิด-พูด อย่าให้ปนกัน ส่วนใหญ่ยกข้อ ๒ พูดก็ไปปนกับนัยที่ ๑ ยกข้อ ๑ พูดก็ปนกับนัยที่ ๒ จึงขัดกัน)

สมมติ การรู้ร่วมกัน, การตกลงกัน, การมีมติร่วมกัน หรือยอมรับร่วมกัน (เรียกว่า สมมติ)

บัญญัติ การกำหนดเรียก, การตั้งขึ้น, ข้อที่ตั้งขึ้น, การเรียกชื่อ, การวางเป็นกฎไว้, ข้อบังคับ (เรียกว่า บัญญัติ)

งดใช้บริการ

  https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_3724456 https://www.facebook.com/photo/?fbid=491527119790156&set=a.433526435590225 https:...