วันศุกร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2564

กมฺมุนา วตฺตตี โลโก



กรรม ในระดับสังคม หรือกรรมของสังคม มีหรือไม่ ?

บางที มีการตั้งข้อสงสัย หรือ ถึงกับถกเถียงกันว่า กรรมของสังคม หรือ กรรมในระดับสังคม มีหรือไม่ ? บางคนเห็นว่า กรรมเป็นเรื่องเฉพาะตัวของบุคคล กรรมของใคร ก็ของคนนั้น ใครทำ ใครได้ กรรมจึงมีแต่ในระดับบุคคล เป็นเรื่องส่วนตัว เพราะฉะนั้น กรรมของสังคม หรือ กรรมในระดับสังคม จึงไม่มี
คำพูดทำนองนี้ บางทีก็เป็นการพรางตัวเอง หรือ ถึงกับหลอกตัวเอง ในการพิจารณาเรื่องนี้ อาจจะไม่ต้องตอบคำถาม แต่ยกหลักมาแสดง และให้ผู้ถามหรือผู้สงสัย ตอบคำถามหรือแก้ข้อสงสัยของตนเอง

กรรมคืออะไร ทุกคนตอบได้ว่า กรรมคือการกระทำ หรือให้ชัดขึ้นว่า กรรมคือการกระทำที่เกิดจากเจตนา หรือจำเพาะลงไปเลย ตามพุทธพจน์ว่า กรรมคือเจตนา หรือเจตนาเป็นกรรม

ในแง่บุคคล ใครทำกรรม คือเป็นเจ้าของเจตนา ก็เสวยผลของกรรม คือผลของเจตนานั้น ตรงนี้เห็นได้ว่าเฉพาะตัว น้ำในแก้วน้ำใบนี้ ใส่สีแดงลงไป น้ำในแก้วน้ำใบนี้ ก็มีสีแดง ในใบโน้นใส่สีเขียวก็มีสีเขียวในใบโน้น ของใครของมัน


ทีนี้ มองกว้างออกไป หรือ พูดอย่างเป็นกลางๆว่า มนุษย์นี้ต่างจากวัตถุสิ่งธรรมชาติทั้งหลายอื่นทั่วไป ตรงที่มีการกระทำ และการกระทำของเขานั้น เกิดจากเจตนา หรือ เป็นไปตามเจตจำนง เรื่องราวของมนุษย์ทุกอย่าง ตัดแต่งเสื้อผ้า สร้างบ้านสร้างเรือน เป็นชาวนา เป็นกรรมกร มีอาชีพต่างๆ จนสร้างบ้านสร้างเมือง ฯลฯ เป็นเรื่องที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ เกิดจากเจตจำนงของมนุษย์ เริ่มหรือตั้งขึ้นมาจากเจตนาของคน เป็นไปตามเจตจำนงของคน ที่ภาษาพระเรียกว่ากรรม


เรื่องของมนุษย์ที่มนุษย์ทำขึ้นมานี้ มากมายเต็มไปทั่ว จนพูดกันว่า โลกของมนุษย์ หรือสังคมมนุษย์ แต่รวมแล้ว โลกของมนุษย์นั้น ก็คือโลกแห่งการกระทำของมนุษย์ หรือโลกแห่งเจตจำนง ที่เจตนาของมนุษย์จัดสรรปั้นปรุง หรือสร้างสรรค์ขึ้นมา โลกของมนุษย์นั้นจึงเป็นโลกของกรรม


พูดง่ายๆ ว่า กรรมเป็นเรื่องของมนุษย์ เรื่องของมนุษย์ก็คือกรรม ว่าเป็นกลางๆไม่ต้องไปจำกัด หรือแยกว่ากรรมของบุคคล หรือกรรมของสังคม ว่ากรรมในระดับบุคคล หรือในระดับสังคม แทนที่จะแยกอย่างนั้น ควรจะแยกกรรมที่เป็นเรื่องของมนุษย์ ต่างออกไปจากเรื่องของพืช เรื่องของวัตถุหรือสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

กรรมที่เป็นเรื่องของมนุษย์นี้ มองเป็นกลางๆ อย่างนี้ ก็เห็นตั้งแต่บุคคลขึ้นไปถึงทั้งสังคม ทั้งโลก

เหมือนอย่างที่พูดว่า แต่ละบุคคลมีชีวิตของตนๆ แล้วบุคคลทั้งหลายมาอยู่ร่วมกัน มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน ก็เป็นสังคมขึ้นมาเอง ข้อนี้ฉันใด กรรมที่เป็นวิถีชีวิตของบุคคล เมื่อบุคคลทั้งหลายมาอยู่ร่วมกัน ก็ทำกรรมต่อกันและทำกรรมด้วยกัน ก็เกิดเป็นกรรมที่เป็นวิถีของสังคมขึ้นมาเอง นี่ก็ฉันนั้น กรรมที่เป็นเฉพาะตัวบุคคลก็มี แล้วพอมองกว้างออกไป เป็นกลางๆ กรรมก็เป็นเรื่องของมนุษย์ เป็นตัวการที่สร้างโลกของมนุษย์ขึ้นมา ไม่ต้องไปแยกว่าเป็นกรรมในระดับบุคคล หรือกรรมในระดับสังคม นอกจากเพื่อความสะดวกในการศึกษาพิจารณา



ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ชาวบ้านเป็นเกษตรกร ทำมาหากินกันด้วยความขยันหมั่นเพียร อยู่กันมาเป็นปกติสุข ต่อมา นักพนันชนไก่ที่เชี่ยวชาญคนหนึ่ง เข้ามาเยี่ยมหมู่บ้าน นำศิลปะของตนมาแสดง และเผยแพร่ชักชวน คนไหนชื่นชอบเชื่อถือ คือ มีเจตนารับเอามาทำตาม ก็เป็นกรรมของคนนั้น และเขาก็จะได้รับผลกรรมของตน เป็นเรื่องเฉพาะตัวของเขา นี่มองแค่ตัวคนนั้นเป็นบุคคล แต่มองกว้างออกไป ปรากฎว่า ต่อมาไม่นาน หัวหน้าครอบครัวแทบทั้งหมู่บ้านนั้น ชื่นชอบเชื่อตาม เล่นพนันชนไก่กันทั่ว สนุกสนานกันมาก ไม่เป็นอันทำมาหากิน ชาวบ้านที่เชื่อและทำตาม แต่ละคนก็ได้รับผลกรรมของตัวไป


แต่เมื่อมองกว้างทั้งหมู่บ้านนั้น ปรากฎผลรวมว่า ชาวหมู่บ้านนั้น มีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป มีการดื่มสุรา มีการลักขโมยมาก เป็นต้น แล้วความเจริญความเสื่อม ทุกข์หรือสุขก็ตามมาแก่คนหมู่บ้านนั้น สภาพของหมู่บ้านนั้น แม้แต่สภาพแวดล้อมดินน้ำลมไฟ ก็เปลี่ยนไป


อย่างนี้ คือกรรมเป็นเรื่องของคน หรือเรื่องของโลกมนุษย์ เป็นของบุคคล หรือของสังคม ก็เห็นได้เอง และในด้านหลักกรรม เมื่อมองให้กว้าง ปัจจยาการก็ถึงกันหมดเองเป็นธรรมดา

ชาวพุทธไทยจำนวนมากเคยได้ยินพุทธพจน์ว่า "กมฺมุนา วตฺตตี โลโก" แปลว่า โลกเป็นไปตามกรรม บางทีก็ยกมาพูดมาอ้างกัน แต่มักไม่ดูความหมายให้ชัด โลกในพุทธพจน์นี้ ก็คือสังคมมนุษย์ ทีนี้ โลกมนุษย์ หรือสังคมมนุษย์นี้ เป็นไปตามกรรมอย่างไร

พุทธพจน์นี้มาในวาเสฏฐสูตร ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงหลักกรรมเพื่อหักล้างระบบวรรณะของพราหมณ์ พราหมณ์มีลัทธิว่า พระพรหมสร้างโลก และจัดสรรทุกอย่างมาเสร็จ สำหรับสังคมมนุษย์ กำหนดให้คนแยกเป็น ๔ วรรณะ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร อย่างที่รู้กัน เกิดมาในวรรณะไหน ก็ต้องอยู่ในวรรณะนั้นจนตาย เปลี่ยนแปลงไม่ได้

พระพุทธเจ้าทรงคัดค้านลัทธิพราหมณ์นั้น โดยตรัสว่า โลกมนุษย์ หรือสังคมมนุษย์นี้ เป็นไปตามกรรม กรรมในที่นี้ ทรงเน้นกรรมที่คนทำเป็นประจำ จนเป็นวิถีชีวิตของคน แล้วก็เป็นวิถีของชุมชน กลุ่มชน นั่นก็คือ กิจการงานอาชีพ (คำว่า กรรม ในภาษาบาลี บ่อยมาก หมายถึง การงานอาชีพ)

ความเป็นไปของมนุษย์ในสังคมอย่างนี้แหละ ที่ตรัสว่า โลกเป็นไปตามกรรม คือ โลกไม่ใช่เป็นไปตามที่พระพรหมสร้าง และไม่ใช่ว่ากำหนดมาให้เป็นอย่างไรก็เป็นอยู่อย่างนั้นตายตัว โลกหรือสังคมนี้ เป็นไปตามกรรม คือ การกระทำ เช่นการงานอาชีพ ที่คนมีเจตจำนงเลือกประกอบหรือจัดทำ

พุทธพจน์ในวาเสฏฐสูตรตรงนี้ ได้ยกมาอ้างบ่อย แต่เป็นการอ้างอิงเพื่ออธิบายในต่างแง่ความหมาย หรือไม่ก็เป็นการเน้นย้ำ ขอนำมาแสดง ณ ที่นี้ด้วย ดังนี้

"ดูกรวาเสฏฐะ ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ในหมู่มนุษย์ ผู้ใดอาศัยโครักขกรรมเลี้ยงชีพ ผู้นั้น เป็นชาวนา มิใช่พราหมณ์....ผู้ใดเลี้ยงชีพด้วยศิลปะต่างๆ ผู้นั้นเป็นศิลปิน...ผู้ใดอาศัยการค้าขายเลี้ยงชีพ ผู้นั้นเป็นพ่อค้า...ผู้ใดเลี้ยงชีพด้วยการรับใช้ผู้อื่น ผู้นั้นเป็นคนรับใช้...ผู้ใดอาศัยการลักทรัพย์เลี้ยงชีพ ผู้นั้นเป็นโจร...ผู้ใดอาศัยศรและศัสตราเลี้ยงชีพ ผู้นั้นเป็นทหารอาชีพ... ผู้ใดเลี้ยงชีพด้วยหน้าที่ปุโรหิต ผู้นั้นเป็นเจ้าหน้าที่การบูชา หาใช่พราหมณ์ไม่...ผู้ใดปกครองบ้านเมือง ผู้นั้นเป็นราชา หาใช่พราหมณ์ไม่ ฯลฯ เราเรียกคนที่ไม่มีกิเลสค้างใจ ไม่มีความถือมั่น ว่าเป็นพราหมณ์...


"คนมิใช่เป็นพราหมณ์เพราะชาติกำเนิด แต่เป็นพราหมณ์เพราะกรรม ไม่เป็นพราหมณ์ก็เพราะกรรม เป็นชาวนาก็เพราะกรรม (การงาน อาชีพ ความประพฤติ การดำเนินชีวิต) เป็นศิลปิน เป็นพ่อค้า เป็นคนรับใช้ เป็นโจร เป็นทหาร เป็นปุโรหิต และแม้แต่เป็นราชา ก็เพราะกรรม บัณฑิตทั้งหลายผู้เห็นปฏิจจสมุปบาท ฉลาดในกรรมและวิบาก ย่อมมองกรรมตามเป็นจริงอย่างนี้ โลกย่อมเป็นไปเพราะกรรม หมู่ประชาย่อมเป็นไปเพราะกรรม.." (ม.ม.13/707/643-9)

เป็นอันว่า ตามหลักพุทธธรรม สังคมปรากฎตัวและเป็นไปตามกรรม คือ การงานกิจการอาชีพที่คนทำ และวิถีชีวิตที่ดำเนินไปตามนั้น ไม่ใช่เป็นวรรณะตามชาติกำเนิด อย่างที่พราหมณ์บอกว่าพระพรหมกำหนดจัดสรรบันดาลมา

ดังที่กล่าวแล้วว่า หลักกรรมนี้ เป็นส่วนหนึ่งของหลักปฏิจจสมุปบาท และในบทที่ว่าด้วยปฏิจจสมุปบาทที่ผ่านมาแล้ว ก็ได้อ้างอิงให้เห็นว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงปฏิจจสมุปบาท ตอนที่เป็นปัจจยาการแห่งการเกิดขึ้นของปัญหาความชั่วร้ายในสังคมไว้ด้วย อาจจะเรียกว่าปัจจยาการแห่งทุกข์ของสังคมก็ได้ แต่ทั้งนี้ก็เป็นการตัดแยกออกมาดูเพื่อประโยชน์ในการศึกษาเรื่องราว


ในความเป็นจริง ปัญหาความทุกข์ของชีวิต และปัญหาของสังคม ก็คือปัญหาของมนุษย์ หรือปัญหาที่เกิดจากมนุษย์นั่นเอง ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องอันเดียวกัน จากปัญหาในชีวิตของบุคคล ก็ขยายกว้างต่อออกไปเป็นปัญหาในการอยู่ร่วมกัน หรือปัญหาสังคม แล้วก็เป็นปัจจัยผกผันต่อกันได้ ท่านไม่แยกเป็นต่างระบบคนละระดับต่างหากกัน

นอกจากนี้ พึงทราบว่า ในบรรดากรรม ๓ อย่าง คือ กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม นั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า มโนกรรม เป็นกรรมที่มีผลยิ่งใหญ่ที่สุด และในมโนกรรมนั้น ที่เด่นทรงเน้นมาก คือ ทิฏฐิ อันได้แก่ แนวคิด ทฤษฎี ความเชื่อ ลัทธิ ศาสนา และอุดมการณ์ทั้งหลาย

จากเจ้าลัทธิ เจ้าทฤษฎี เป็นต้น ที่สั่งสอนเผยแพร่ มีคนเชื่อถือเห็นตามยอมรับ สมาทาน เอาไปปฏิบัติขยายออกไปๆ สามารถบันดาลให้เกิดเหตุการณ์ และความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ เป็นกันมามากมาย

เห็นได้ชัดว่า หมู่ชนไม่ว่าระดับไหน ถูกขับเคลื่อนด้วยแนวคิดความเชื่อ จนกระทั่งเป็นอารยธรรม ก็มีทิฏฐิเป็นตัวขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลัง แล้วสังคมมนุษย์ก็ได้รับผลดีผลร้ายไปตามมโนกรรมที่สมาทานกันนั้น

ทั้งที่ทิฏฐิเป็นมโนกรรมอยู่ในใจ แต่มีอิทธิพลต่อสังคมแสดงผลต่อโลกนี้ยิ่งใหญ่ที่สุด ดังที่อาจจะอ้างพุทธพจน์ว่า

"ภิกษุทั้งหลาย เอกบุคคล เมื่อเกิดขึ้นในโลก ยอมเกิดขึ้นเพื่อไม่เกื้อกูล ไม่เป็นความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความพินาศ มิใช่ประโยชน์ เกิดขึ้นเพื่อความทุกข์ แก่เทวะและมนุษย์ทั้งหลาย คือ เอกบุคคลอย่างไหน ได้แก่ เอกบุคคลที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ มีทัศนะวิปริต เขาพาพหูชนออกไปจากสัทธรรมแล้ว ให้ตั้งอยู่ในอสัทธรรม ภิกษุทั้งหลาย เอกบุคคลนี้แล เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล ไม่เป็นความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความพินาศ มิใช่ประโยชน์ เกิดขึ้นเพื่อความทุกข์ แก่เทวะและมนุษย์ทั้งหลาย

"ภิกษุทั้งหลาย เอกบุคคล เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อประโยชน์ แก่เทวะและมนุษย์ทั้งหลาย คือ เอกบุคคลอย่างไหน ได้แก่ เอกบุคคลที่เป็นสัมมาทิฏฐิ มีทัศนะไม่วิปริต เขาพาพหูชนออกไปจากอสัทธรรมแล้ว ให้ตั้งอยู่ในสัทธรรม ภิกษุทั้งหลาย เอกบุคคลนี้แล เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่พหูชน เพื่อประโยชน์สุข แก่เทวะและมนุษย์ทั้งหลาย" (องฺ.เอก.20/191-2/44)

เพื่อให้สะดวกสำหรับคนทั่วไป อาจจะวัดผู้นำแนวคิดและเจ้าลัทธิ เป็นต้น นั้น ด้วยผลการกระทำ ดังพุทธพจน์แสดงลักษณะของมหาบุรุษที่ว่า เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่พหุชน เพื่อความสุขแก่พหุชน ทำให้ประชาชนดำรงอยู่ในทางดำเนินแห่งอารยชน กล่าวคือ ความมีกัลยาณธรรม ความมีกุศลธรรม

ข้อนี้สอดคล้องกับคติพระพุทธศาสนา ที่อ้างอยู่เสมอว่า พหุชนหิตายะ พหุชนสุขายะ โลกานุกัมปายะ กล่าวคือ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่พหูชน เพื่อความสุขของพหูชน เพื่อเกื้อการุณย์แก่ชาวโลก

มองย้อนทวนความอีกครั้งหนึ่งว่า กรรมเป็นเรื่องของมนุษย์ หรือพูดให้ถูกต้องกว่านั้นว่า กรรมนี่แหละเป็นของมนุษย์ เรื่องของมนุษย์ หรือสิ่งที่เป็นของมนุษย์ ก็คือ ความคิด คำพูด และการเคลื่อนไหวทำการทั้งหลายของเขา จึงพูดว่าเรื่องของมนุษย์ ก็คือ กรรม หรือมีแต่กรรมเท่านั้นเอง นอกจากนี้แล้ว แม้แต่ที่มาเกี่ยวข้องกับมนุษย์ รวมทั้งในตัวเขาเองด้วย ก็เป็นเรื่องของกฎธรรมชาติด้านอื่น ที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้นๆ


คำที่มีใครพูดว่า "กรรมของสังคม" นั้น มองให้ชัด ก็เป็นคำพูดที่ลวงความคิด เราไม่ควรพูดอย่างนั้น เราพูดได้ แต่ว่ากรรมของมนุษย์ แล้วก็ไปแยกเอาว่าเป็นกรรมด้านบุคคล และเป็นกรรมด้านสังคม หรือกรรมที่ออกผลแก่บุคคล และกรรมที่ออกผลแผ่ขยายออกไปปรากฎเป็นสภาพของสังคม

เมื่อมนุษย์มาอยู่ร่วมกัน ที่เรียกว่าเป็นสังคม เนื้อหาสาระความเป็นไปส่วนใหญ่ในสังคมนั้น ก็คือการกระทำ หรือ กรรมของมนุษย์ ในการติดต่อเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันในหมู่ของพวกเขา เพราะฉะนั้น เมื่อสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย เมื่อผลเกิดขึ้น เป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน ความเป็นไปของมนุษย์เหล่านั้น หรือสังคมของเขา จึงเป็นไปตามกรรมที่พวกเขาทำนั้น ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า โลกเป็นไปตามกรรม หรือ สังคมเป็นไปตามการกระทำของมนุษย์ ที่เขาก่อความคิด การพูด การเคลื่อนไหวทำการทั้งหลายขึ้นมา ทำอย่างไร ก็ได้ผลตามเหตุปัจจัยที่เป็นไปนั้น

ดังได้กล่าวแล้วว่า ตัวแท้ของกรรม ก็คือเจตนาหรือเจตจำนงของคน โลกคือสังคมมนุษย์จึงเป็นโลกของเจตจำนง ที่เจตจำนงของมนุษย์ปรุงปั้นจัดแต่งขึ้นมา กรรมแรกหรือกรรมหลักที่เจตจำนงของมนุษย์อาศัยปัญญากำหนดขึ้น เพื่อสนองความมุ่งหมายในการติดต่อสื่อสารสัมพันธ์กันของหมู่มนุษย์ ก็คือการจัดตั้งสมมุติ อันได้แก่ การวางข้อตกลงรู้ร่วมในการติดต่อสื่อสารสัมพันธ์กันนั้น

ด้วยเจตจำนง ที่มีปัญญาส่องทางให้นั้น มนุษย์ก็สามารถเข้าไปร่วมเป็นปัจจัยเอกในกระบวนการทั้งหลายแห่งเหตุปัจจัยของธรรมชาติ เพื่อผันเบนกระบวนให้ออกผลมาอย่างที่ตนปรารถนา เฉพาะอย่างยิ่งในการจัดการระบบสมมติอันเป็นสาระของสังคมที่พวกเขาตั้งวางขึ้น

พูดสั้นๆว่า ปัญญารู้ธรรม คือความจริงที่เป็นธรรมดาของธรรมชาติ หรือกฎธรรมชาติแล้ว เจตนาแห่งกรรมนิยามก็นำความรู้นั้นมา "วินัย" คือจัดตั้งวางกำหนดจัดสรรระบบสมมติของสังคมให้เป็นไปตามจำนง และได้รับผลเป็นไปตามขีดระดับของปัญญาและคุณภาพของจิตที่ประกอบเจตนานั้น นี้คือเข้าสู่การบรรจบประสานของระบบแห่งธรรมของธรรมชาติ กับ ระบบแห่งวินัยต่อสมมติของมนุษย์ เฉพาะอย่างยิ่งกรรมนิยาม กับ สมมตินิยาม กรรมของมนุษย์ที่เข้าถึงธรรมและวินัยนี่แหละ จึงจะสร้างอารยธรรมที่แท้ให้แก่โลกได้

คนกลุ่มหนึ่งอยู่ในตำแหน่งหน้าที่สาธารณะ เขาร่วมกันทำงานที่เรียกว่าของสังคม ด้วยเจตนาหาผลประโยชน์ส่วนตัว อีกบุคคลหนึ่ง ดำเนินชีวิตไปตามปกติของเขา ไม่อยู่ในวงสาธารณะใดๆ แต่เขามุ่งทำการต่างๆ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ในกรณีอย่างนี้ ถ้าเข้าใจเรื่องกรรมของมนุษย์แล้ว ก็คงบอกได้เองว่าอันไหนเป็นกรรมของบุคคล อันไหนเป็นกรรมของสังคม หรือกรรมด้านบุคคล และกรรมด้านสังคมอยู่ตรงไหน


อดีตเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๑ ปลามีราคาแพง (ราคาตอนนั้น) ผู้นำตอนนั้นก็สั่งให้ทหารเรือจับจำพวกปลาทะเลมาขายให้ประชาชนในราคาถูก พ.ศ. ๒๕๖๔ ผักชีมีราคาแพง ผู้นำตอนนี้ก็สั่งให้ทหารปลูกผักชีขายประชาชนในราคาถูก น้ำมันแพงรถบรรทุกสินค้าไม่วิ่ง ผู้นำก็สั่งให้นำรถทหารวิ่งรับส่งสินค้า


งดใช้บริการ

  https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_3724456 https://www.facebook.com/photo/?fbid=491527119790156&set=a.433526435590225 https:...