วันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

บุคคลแรกที่พูดได้เดินได้ทันทีที่เกิด

เสฐียรพงษ์ วรรณปก : สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (1) บุคคลแรกที่พูดได้เดินได้ทันทีที่เกิด



บอกไว้ก่อนว่า เรื่องอย่างนี้มิใช่เรื่องอัศจรรย์ มิใช่เรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ แต่เป็นปรากฏการณ์ “ธรรมดา” ที่เกิดขึ้นได้สำหรับบุคคลพิเศษ

บุคคลพิเศษในที่นี้ก็คือ เจ้าชายสิทธัตถะ

เจ้าชายสิทธัตถะคือใคร ชาวพุทธทุกคนก็ต้องรู้ (หรือว่าไม่รู้ก็มิทราบ คุณปัญญา ลองนำไปถามในรายการทีวีของท่านดูสักหน่อยได้ไหมครับ) เจ้าชายสิทธัตถะ เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ กับพระนางสิริมหามายา แห่งเมืองกบิลพัสดุ์ แคว้นศากยะ ซึ่งตั้งอยู่เชิงเขาหิมาลัย ปัจจุบันนี้อยู่ในประเทศเนปาล

ก่อนประสูติเล็กน้อย พระนางสิริมหามายาเสด็จนิวัตยังพระนครเทวทหะ บ้านเกิดเมืองนอนของท่านเพื่อไปคลอดลูก (แหม พอได้พูดคำธรรมดา ไม่ใช้ราชาศัพท์ เขียนคล่องเลยครับ)

ขบวนเสด็จไปถึงพระราชอุทยานชื่อลุมพินีวัน ซึ่งอยู่กึ่งกลางระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์กับเมืองเทวทหะ พระนางก็ประชวรพระครรภ์ จึงเสด็จไปพักผ่อนในพระราชอุทยาน แล้วก็ทรงมีพระประสูติกาล (คลอดลูกนั้นแหละครับ) ณ สวนลุมพินีนั้นเอง

เคยมีครูถามนักเรียนว่า นักเรียน ทำไมเจ้าชายสิทธัตถะประสูติที่สวนลุมพินี นักเรียนยกมือตอบด้วยความมั่นใจว่า “เพราะอยู่ใกล้โรงพยาบาลจุฬาครับ!” (นี่แหละครับ ผมถึงอยากให้คุณปัญญา ทดสอบผ่านรายการของท่าน ให้ผมหน่อย)

พระนางสิริมหามายาทรงยืน (ตรงนี้ไม่ “ประทับยืน” แน่ๆ เพราะ “ประทับ” แปลว่านั่ง ประทับยืน ก็แปลว่า “นั่งยืน” มองไม่ออกว่าทำอีท่าไหน) เหนี่ยวกิ่งสาละ (ไม่ควรแปลว่า ต้นรัง ผมไปเห็นมาแล้ว ต้นสาละไม่ใช่ต้นรัง) พระราชกุมารน้อยก็ก้าวลงจากพระครรภ์ ผินพระพักตร์ไปทางทิศอุดร ทรงชี้พระดรรชนีขึ้นฟ้า เสด็จดำเนินไป 7 ก้าว ทรงเปล่ง อาสภิวาจา (วาจาอย่างองอาจ)

อาสภิวาจา ว่าอย่างไร อาทิตย์หน้าค่อยว่ากัน วันนี้ขอแถลงเรื่อง การที่เจ้าชายสิทธัตถะ พูดได้ เดินได้ ทันทีที่ประสูติ

คนส่วนมากตั้งคำถามว่า “พูดได้ เดินได้จริงหรือ” บางท่านก็พูดออกมาตรงๆ ว่า ไม่เชื่อ อมพระมาทั้งโบสถ์ก็ไม่เชื่อ เพราะไม่คิดว่าเรื่องอย่างนี้จะเป็นไปได้กระมัง อาจารย์รุ่นหลังๆ จึงหาทางออกว่า เป็น “สัญลักษณ์” หรือ “บุพนิมิต” แล้วก็แจกแจงอย่างน่าฟัง เช่น

การที่ผินพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ เป็นสัญลักษณ์ว่า ท่านผู้นี้ต่อไปจะเป็นผู้อยู่เหนือ คือ เอาชนะเจ้าลัทธิทั้งหลายในชมพูทวีป

การเสด็จดำเนิน 7 ก้าว เป็นสัญลักษณ์แทนแว่นแคว้นทั้ง 7 ที่จะได้ประกาศสัจธรรมที่ตรัสรู้ให้แพร่หลาย หรือ (มีหรือด้วยครับ แสดงว่าตีความได้สองนัย) หมายถึงโพชฌงค์ 7 ประการ

ดอกบัวที่ผุดขึ้นรองรับพระบาท หมายถึงท่านผู้นี้จะเป็นผู้บริสุทธิ์จากกิเลสโดยสิ้นเชิง (หมายเหตุ ในพระไตรปิฎก ไม่พูดถึงดอกบัว ดอกบัวนี้เพิ่มมาภายหลัง)

การที่ทรงเปล่งอาสภิวาจา หมายถึง ท่านผู้นี้จะได้ประกาศสัจธรรมที่ยังไม่เคยมีใครประกาศมาก่อนเลย ฯลฯ

นี้คือการหาทางออก เพื่อไม่ให้ชาวพุทธอึดอัดใจเมื่อมีใครซักถาม แต่ขอกราบเรียนว่า คำตอบนั้นมีอยู่แล้วในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าตรัสเล่าให้พระสาวกของพระองค์เอง พวกเราชาวพุทธอ่านไม่ละเอียดเอง

จากข้อความในพระไตรปิฎก แสดงว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องจริง เกิดขึ้นได้จริง มิใช่สัญลักษณ์แต่อย่างใด

ในพระไตรปิฎก ได้เล่าเหตุการณ์พิเศษต่างๆ ดังกล่าวมาข้างต้น แล้วท่านก็สรุปลงด้วยคำพูดสั้นๆ ว่า “นี้เป็นธรรมดาของพระโพธิสัตว์

ท่านบอกเราว่า เหตุการณ์พิเศษต่างๆ ที่เกิดขึ้นนี้ เป็นเรื่องธรรมดาของพระโพธิสัตว์ เจ้าชายสิทธัตถะ เป็นพระโพธิสัตว์คือผู้บำเพ็ญบารมีมาจนเต็มเปี่ยมแล้ว ท่านย่อมมี “ธรรมดา” ไม่เหมือนมนุษย์ทั่วไป

ถามว่าเรื่องอย่างนี้เป็นปาฏิหาริย์ไหม ตอบว่าไม่ใช่ เป็นอิทธิฤทธิ์ไหม ตอบว่าไม่ใช่ “มันเป็นธรรมดาของพระโพธิสัตว์”

“ธรรมดาของนกย่อมบินได้” ท่านเห็นนกบินได้ท่านอัศจรรย์ไหม เปล่าเลย มันธรรมดาของมัน ถ้าถามว่า ทำไมนกมันบินได้ คำตอบที่ถูกต้องที่สุดก็คือ “มันเป็นธรรมดาของนกมัน” นกบินไม่ได้สิผิดธรรมดาแน่ๆ ใช่ไหมครับ

เพราะฉะนั้น เหตุการณ์เกี่ยวกับการประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ ขอให้เข้าใจว่า ก็คือเหตุการณ์ธรรมดาๆ นั้นเอง ไม่ใช่เรื่องประหลาดมหัศจรรย์อะไร เพียงแต่เป็นธรรมดา ที่ไม่ทั่วไปสำหรับสามัญชนอื่นๆ เท่านั้นเอง

ผมเคยอ่านบันทึกจากกินเนสส์บุ๊ก (คนอื่นเขาลอกมาให้อ่านอีกที) บันทึกไว้ว่า มีเด็กชายสองคนชื่อ เจมส์ ซิดิส คนหนึ่ง คริสเตียน ไฮเนเก้น อีกคนหนึ่ง เป็นอัจฉริยมนุษย์ โดยเฉพาะ คริสเตียน ไฮเนเก้น เกิดมาแปดสัปดาห์พูดได้ ปาฐกถาเรื่องอภิปรัชญาชั้นสูง ให้ที่ประชุมนักปราชญ์ทั้งหลายฟัง ทึ่งไปตามๆ กัน ว่าทำได้ไง

กินเนสส์บุ๊ก เป็นที่รู้กันว่าบันทึกเรื่องจริง ไม่โกหกเราแน่นอน สมัยนี้ เด็กเกิดมาแปดสัปดาห์พูดได้ ก็มีแล้ว ย้อนหลังไปสองพันห้าร้อยกว่าปี เจ้าชายแห่งราชวงศ์ศากยะ ทันทีที่เกิดมาก็พูดได้ จะต่างอะไรล่ะครับ

อย่าคิดแต่เพียงว่า เป็นไปไม่ได้ๆ สมัยนี้มีกี่หมื่นกี่แสนอย่างที่เราไม่เคยคิดว่าจะเป็นไปได้ มันเป็นไปได้แล้วทั้งนั้น

สรุปแล้ว บุคคลแรกที่พูดได้ทันทีที่เกิด คือเจ้าชายสิทธัตถะ พระราชกุมารแห่งศากยวงศ์ ต่อมาก็คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมศาสดาเอกแห่งโลกนั้นแล



 
ถ้าอย่างนั้นก็     
นกบินได้เป็นธรรมชาติเป็นธรรมดาของนก  พระโพธิสัตว์เป็นอย่างนั้นก็เป็นธรรมชาติธรรมดาของโพธิสัตว์  ปลาหายใจในน้ำได้ก็เป็นธรรมดาของปลา   กุศลจิตมีสภาพอย่างนั้นก็เป็นธรรมชาติของกุศลจิต  อกุศลจิตมีสภาพอย่างนั้นก็เป็นธรรมดาของอกุศลจิต  ไตรลักษณ์มีลักษณะสามอย่างก็เป็นธรรมดาของไตรลักษณ์ รูปนามมีสภาพอย่างนั้นก็เป็นธรรมดาของรูปนาม   ปุถุชนมีกิเลสก็เป็นธรรมดาของปุถุชน   ทั้งนั้น  เป็นอย่างนั้นมันก็เป็นอย่างนั้น   ส่วนใครจะเชื่อไม่เชื่อก็เป็นธรรมดาของเขา
      
       ธรรมดา      อาการหรือความเป็นไปแห่งธรรมชาติ;  สามัญ,   ปกติ,   พื้นๆ
    
       ธรรมชาติ   ของที่เกิดเองตามวิสัยของโลก   เช่น  คน  สัตว์  ต้นไม้  เป็นต้น

ทุกวันนี้  ก็มีคนเชื่อว่าพระพุทธเจ้าเกิดในประเทศไทย  ไม่เชื่อว่าเกิดที่ชมพูทวีปคืออินเดียปัจจุบันแล้ว
  

เฉพาะประเด็นนี้ มี กท. 1 ถาม

ทำไม พระพุทธเจ้าเกิดมาเดินได้ทันที ไม่ถูกมองว่า เป็นงานเขียนของ 18 มงกุฎ ที่จับปากกาดินสอขึ้นมาเเล้วก็จินตการเขียนไปตามเรื่องตามราวครับ

วันเสาร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ฐานวางความคิดผู้ศึกษาพุทธศาสนา

กันไม่ให้สุดโต่งแง่ใดแง่หนึ่งจับภาพกว้างๆไว้ก่อน


สิ่งที่ควรเข้าใจก่อน

///พระพุทธศาสนานั้น เมื่อมองในทัศนะของคนสมัยใหม่ มักเกิดปัญหาขึ้นบ่อยๆ ว่าเป็นศาสนา (religion) หรือ เป็นปรัชญา (philosophy) หรือว่า เป็นเพียงวิธีครองชีวิตแบบหนึ่ง (a way of life) เมื่อปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้นแล้ว ก็เป็นเหตุให้ต้องถกเถียงหรือแสดงเหตุผล ทำให้เรื่องยืดยาวออกไปอีกทั้งมติในเรื่องนี้ ก็แตกต่างไม่ลงเป็นแบบเดียวกัน ทำให้เป็นเรื่องฟั่นเฝือ ไม่มีที่สิ้นสุด ในที่นี้จะมุ่งแสดงแต่ในขอบเขตว่า พุทธธรรมสอนว่าอย่างไร มีเนื้อหาอย่างไรเท่านั้น ส่วนที่ว่า พุทธธรรมจะเป็นปรัชญาหรือไม่ ให้เป็นเรื่องของปรัชญาเองที่จะมีขอบเขต ครอบคลุมหรือสามารถตีความให้ครอบคลุมถึงพุทธธรรมได้หรือไม่ โดยที่ว่า พุทธธรรม ก็คือ พุทธธรรม และยังคงเป็นพุทธธรรมอยู่นั่นเอง มีข้อจำกัดเพียงอย่างเดียวว่า หลักการ หรือ คำสอนใดก็ตาม ที่เป็นเพียงการคิดค้นหาเหตุผลในเรื่องความจริง เพื่อสนองความต้องการทางปัญญา โดยมิได้มุ่งหมาย และมิได้แสดงแนวทางสำหรับประพฤติปฏิบัติในชีวิตจริง อันนั้น ให้ถือว่า ไม่ใช่พระพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างที่ถือว่า เป็นคำสอนเดิมแท้ของพระพุทธเจ้า ซึ่งในที่นี้ เรียกว่า พุทธธรรม

///การจะประมวลคำสอนแล้วสรุปลงว่า พุทธธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอน และทรงมุ่งหมายแท้จริงเป็นอย่างไรนั้นเป็นเรื่องยาก แม้จะยกข้อความในคัมภีร์ ซึ่งถือกันว่าเป็นพุทธพจน์มาอ้าง เพราะคำสอนในคัมภีร์มีปริมาณมากมาย มีแง่ ด้าน ระดับ ความลึกซึ้งต่างๆ กัน และขึ้นต่อการตีความของบุคคลโดยใช้สติปัญญาและความสุจริตใจ หรือไม่เพียงไรด้วย ในบางกรณี ผู้ถือความเห็นต่างกันสองฝ่าย อาจยกข้อความในคัมภีร์มาสนับสนุนความคิดเห็นของตนได้ด้วยกันทั้งคู่ การวินิจฉัยความจริง ขึ้นต่อความแม่นยำในการจับสาระสำคัญ และความกลมกลืนสอดคล้องแห่งหลักการ และหลักฐานที่แสดงทั้งหมดโดยหน่วยรวมเป็นข้อสำคัญ แม้กระนั้น เรื่องที่แสดงและหลักฐานต่างๆ ก็มักไม่กว้างขวางครอบคลุมพอ จึงหนีไม่พ้นจากอิทธิพลความเห็นและความเข้าใจพื้นฐานต่อพุทธธรรมของบุคคลผู้แสดงนั้น

ในเรื่องนี้ เห็นว่า ยังมีองค์ประกอบอีกอย่างหนึ่ง ที่ควรนำมาเป็นเครื่องวินิจฉัยด้วย คือความเป็นไปในพระชนม์ชีพ และพระปฏิปทาขององค์สมเด็จพระบรมศาสดา ผู้เป็นแหล่ง หรือที่มาของคำสอนเอง

พระพุทธจริยา รวมทั้งบรรดาพุทธกิจ คือ สิ่งที่พระองค์ผู้ทรงสอนได้กระทำ ในบางกรณีอาจแสดงพุทธประสงค์ที่แท้จริงได้ดีหรือชัดกว่าคำสอนที่ปรากฏในคัมภีร์ อย่างน้อยก็เป็นเครื่องประกอบความเข้าใจให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ถึงหากจะมีผู้ติงว่า องค์ประกอบข้อนี้ ก็ได้จากคัมภีร์ต่างๆ เช่นเดียวกับคำสอน และขึ้นต่อการตีความได้เหมือนกัน แม้กระนั้น ก็ยังต้องยอมรับอยู่นั่นเองว่า เป็นเครื่องประกอบการพิจารณาที่มีประโยชน์มาก

จากหลักฐานต่างๆทางฝ่ายคัมภีร์และประวัติศาสตร์ พอจะวาดภาพเหตุการณ์ และสภาพสังคมครั้งพุทธกาล ได้คร่าวๆ ดังนี้
/// พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติในชมพูทวีป เมื่อประมาณ 2,600 ปีล่วงแล้ว ทรงประสูติในวรรณะกษัตริย์ พระนามเดิมว่า เจ้าชายสิทธัตถะ เป็นโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ ผู้ครองแคว้นศากยะซึ่งตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของชมพูทวีป ติดเชิงเขาหิมาลัย ในฐานะโอรสกษัตริย์ และเป็นความหวังของราชตระกูล พระองค์จึงได้รับการปรนปรือด้วยโลกียะสุขต่างๆ อย่างเพียบพร้อม และได้ทรงเสวยความสุขอยู่เช่นนี้เป็นเวลานานถึง 29 ปี ทรงมีทั้งพระชายาและพระโอรส

///ครั้งนั้น ในทางการเมือง รัฐบางรัฐที่ปกครองแบบราชาธิปไตยกำลังเรืองอำนาจขึ้น และกำลังพยายามทำสงครามแผ่ขยายอำนาจและอาณาเขตออกไป รัฐหลายรัฐโดยเฉพาะที่ปกครองแบบสามัคคีธรรม (หรือแบบสาธารณรัฐ) กำลังเสื่อมอำนาจลงไปเรื่อยๆ บางรัฐ ก็ถูกปราบรวมเข้าในรัฐอื่นแล้ว บางรัฐ ที่ยังเข้มแข็งก็อยู่ในสภาพตึงเครียด สงครามอาจเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ แม้รัฐใหญ่ที่เรืองอำนาจ ก็มีการขัดแย้งรบพุ่งกันบ่อยๆ

/// ในทางเศรษฐกิจ การค้าขายกำลังขยายตัวกว้างขวางขึ้น เกิดมีคนประเภทหนึ่ง มีอิทธิพลมากขึ้นในสังคม คือ พวกเศรษฐี ซึ่งมีสิทธิมีเกียรติยศ และอิทธิพลมากขึ้นแม้ในราชสำนัก

/// ในทางสังคม คนแบ่งออกเป็น 4 วรรณะ ตามหลักคำสอนของพราหมณ์ มีสิทธิเกียรติฐานะทางสังคมและอาชีพการงาน แตกต่างกันไปตามวรรณะของตนๆ แม้นักประวัติศาสตร์ฝ่ายฮินดูจะว่า การถือวรรณะในยุคนั้น ยังไม่เคร่งครัดนัก แต่อย่างน้อยคนวรรณะศูทร ก็ไม่มีสิทธิที่จะฟัง หรือกล่าวความในพระเวทอันเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของพราหมณ์ได้ ทั้งมีกำหนดโทษไว้อย่างรุนแรงถึงผ่าร่างกายเป็น 2 ซีกด้วย และ คนจัณฑาล หรือ พวกนอกวรรณะก็ไม่มีสิทธิได้รับการศึกษาเลย การกำหนดวรรณะก็ใช้ชาติกำเนิดเป็นเครื่องแบ่งแยก โดยเฉพาะพวกพราหมณ์ กำลังพยายามยกตนขึ้น ถือตนว่าเป็นวรรณะสูงสุด

///ส่วนในทางศาสนา พวกพราหมณ์เหล่านั้น ซึ่งเป็นผู้รักษาศาสนาพราหมณ์สืบต่อกันมาก็ได้พัฒนาคำสอนในด้านลัทธิพิธีกรรมต่างๆ ให้ลึกลับซับซ้อนใหญ่โตโอ่อ่าขึ้นพร้อมกับที่ไร้เหตุผลลงโดยลำดับ การที่ทำดังนี้ มิใช่เพียงเพื่อวัตถุประสงค์ทางศาสนาเท่านั้น แต่มุ่งสนองความต้องการของผู้มีอำนาจที่จะแสดงเกียรติยศ ความยิ่งใหญ่ของตนประการหนึ่ง และด้วยมุ่งหวังผลประโยชน์ตอบแทน ที่จะได้จากผู้มีอำนาจเหล่านั้นอย่างหนึ่ง

พิธีกรรมเหล่านี้ ล้วนชักจูงให้คนเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวเองมากขึ้น เพราะหวังผลตอบแทนเป็นทรัพย์สมบัติและกามสุขต่างๆ พร้อมกันนี้ ก็ก่อความเดือดร้อนแก่คนชั้นต่ำ พวกทาสกรรมกรที่ต้องทำงานหนัก และการทารุณต่อสัตว์ด้วยการฆ่าบูชายัญครั้งละเป็นจำนวนมากๆ (ดูวาเสฏฐสูตร และ พราหมณ์ธัมมิกสูตร)

ในเวลาเดียวกันนี้ พราหมณ์จำนวนหนึ่งได้คิดว่า พิธีกรรมต่างๆ ไม่สามารถให้ตนประสบชีวิตนิรันดรได้ จึงได้เริ่มคิดเอาจริงเอาจังกับปัญหาเรื่องชีวิตนิรันดร และหนทางที่จะนำไปสู่ภาวะเช่นนั้น ถึงกับยอมปลีกตัวออกจากสังคมไปคิดค้นแสวงคำตอบอาศัยความวิเวกอยู่ในป่า

คำสอนของศาสนาพราหมณ์ในยุคนี้ ซึ่งเรียกว่า ยุคอุปนิษัท ก็มีความขัดแย้งกันเองมาก บางส่วนอธิบายเพิ่มเติมเรื่องพิธีกรรมต่างๆ บางส่วนกลับประณามพิธีกรรมเหล่านั้น และในเรื่องชีวิตนิรันดรก็มีความเห็นต่างๆกัน มีคำสอนเรื่องอาตมันแบบต่างๆ ที่ขัดกัน จนถึงขั้นสุดท้ายที่ว่า อาตมัน คือ พรหมัน ที่เป็นมาและแทรกซึมอยู่ในทุกสิ่งทุกอย่าง มีภาวะที่อธิบายไม่ได้ อย่างที่เรียกว่า “เนติ เนติ” (ไม่ใช่นั่น ไม่ใช่นั่น) เป็นจุดหมายสูงสุดของการบำเพ็ญเพียรทางศาสนา และพยายามแสดงความหมายโต้ตอบ ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องสภาพของภาวะเช่นนี้ พร้อมกับที่หวงแหนความรู้เหล่านี้ไว้ ในหมู่ของพวกตน

พร้อมกันนั้น นักบวชอีกพวกหนึ่ง ซึ่งเบื่อหน่ายต่อความไร้สาระแห่งชีวิตในโลกนี้ก็ได้ไปบำเพ็ญเพียรแบบต่างๆ ตามวิธีการของพวกตนๆ ด้วยหวังว่าจะได้พบชีวิตอมตะ หรือ ผลสำเร็จอันวิเศษอัศจรรย์ต่างๆ ที่ตนหวังบ้าง ก็บำเพ็ญตบะทรมานตนด้วยประการต่างๆ ตั้งต้นแต่อดอาหาร ไปจนถึงการทรมานร่างกายแบบแปลกๆ ที่คนธรรมดาคิดไม่ถึงว่าจะเป็นไปได้ บ้างก็บำเพ็ญสมาธิ ได้ฌานจนถึงรูปสมาบัติ อรูปสมาบัติ บ้างก็บำเพ็ญฌานจนเชียวชาญชำนาญถึงขั้นที่กล่าวว่าทำปาฏิหาริย์ได้ต่างๆ

อีกด้านหนึ่ง นักบวชประเภทที่เรียกว่าสมณะ อีกหลายหมู่หลายพวก ซึ่งได้สละเหย้าเรือนออกบวชแสวงหาจุดหมายชีวิตเช่นเดียวกัน ก็ได้เร่ร่อนท่องเที่ยวไปในบ้านเมืองต่างๆ ถกเถียงถามปัญหากันบ้าง ตั้งตนเป็นศาสดาแสดงทัศนะของตนต่างๆ กันหลายแบบหลายอย่าง

การเพียรแสวงหาจุดหมาย และเผยแพร่แสดงแข่งลัทธิกันนี้ ได้ดำเนินไปอย่างแข็งขันเข้มข้น จนปรากฏว่า เกิดมีลัทธิต่างๆขึ้นเป็นอันมาก เฉพาะที่เด่นๆ ซึ่งกล่าวถึงบ่อยในคัมภีร์พุทธศาสนา ถึง ๖ ลัทธิ

สภาพเช่นนี้ สรุปสั้นๆ คงได้ความว่า ยุคนั้น คนพวกหนึ่ง กำลังรุ่งเรืองขึ้นด้วยอำนาจวาสนา และกำลังเพลิดเพลินมัวเมา แสวงหาทรัพย์สมบัติ และ ความสุขทางวัตถุต่างๆ พร้อมกับที่คนหลายพวก กำลังมีฐานะ และ ความเป็นอยู่ด้อยลงๆ ทุกที ไม่ค่อยได้รับความเหลียวแล ส่วนคนอีกพวกหนึ่ง ก็ปลีกตัวออกไปเสียจากสังคมทีเดียว ไปมุ่งมั่นค้นหาความจริงในทางปรัชญา โดยมิได้ใส่ใจสภาพสังคมเช่นเดียวกัน

เจ้าชายสิทธัตถะ ทรงได้รับความปรนปรือด้วยโลกียะสุขอยู่เป็นเวลานานถึง 29 ปี  และมิใช่เพียงปรนปรือเอาใจเท่านั้น ยังได้ทรงถูกปิดกั้นไม่ให้พบเห็น สภาพความเป็นอยู่ที่ระคนด้วยความทุกข์ของสามัญชนทั้งหลายด้วย แต่สภาพเช่นนี้ ไม่สามารถถูกปิดบังจากพระองค์ได้เรื่อยไป ปัญหาเรื่องความทุกข์ ความเดือดร้อนต่างๆ ของมนุษย์ อันรวมเด่นอยู่ที่ความแก่ เจ็บ และตาย เป็นสิ่งที่ทำให้พระองค์ต้องครุ่นคิดแก้ไข

ปัญหานี้ คิดสะท้อนออกไปในวงกว้าง ให้เห็นสภาพสังคม ที่คนพวกหนึ่งได้เปรียบกว่ ก็แสวงหาแต่โอกาสที่จะหาความสมบูรณ์พูนสุขใส่ตน แข่งขันแย่งชิง เบียดเบียนกันหมกมุ่นมัวเมาอยู่ในความสุขเหล่านั้น ไม่คิดถึงความทุกข์ยากเดือดร้อนของใคร ดำรงชีวิตอยู่อย่างทาสของวัตถุ ยามสุขก็ละเมอมัวเมาอยู่ในความคับแคบของจิตใจ ถึงคราวถูกความทุกข์ครอบงำ ก็ลุ่มหลงไร้สติเหี่ยวแห้งคับแค้นกับตัวเอง    แล้วก็แก่เจ็บตายไปอย่างไร้สาระ ฝ่ายคนที่เสียเปรียบ ไม่มีโอกาส ถูกบีบคั้นกดขี่อยู่อย่างคับแค้น แล้วก็แก่เจ็บตายไปโดยไร้ความหมาย

เจ้าชายสิทธัตถะ ทรงมองเห็นสภาพเช่นนี้แล้วทรงเบื่อหน่ายในสภาพความเป็นอยู่ของพระองค์ มองเห็นความสุข ความปรนปรือเหล่านั้น เป็นของไร้สาระ ทรงคิดหาทางแก้ไข จะให้มีความสุขที่มั่นคงเป็นแก่นสาร ทรงคิดแก้ปัญหานี้ไม่ตก และสภาพความเป็นอยู่ของพระองค์ ท่ามกลางความเย้ายวน สับสนวุ่นวายเช่นนั้น ไม่อำนวยแก่การใช้ความคิดที่ได้ผล  ในที่สุด ทรงมองเห็นภาพพวกสมณะ ซึ่งเป็นผู้ได้ปลีกตัวจากสังคมไปค้นคว้าหาความจริงต่างๆโดยมีความเป็นอยู่ง่ายๆ ปราศจากกังวล และสะดวกในการแสวงหาความรู้และคิดหาเหตุผล สภาพความเป็นอยู่แบบนี้น่าจะช่วยพระองค์ให้แก้ปัญหานี้ได้ และบางทีสมณะพวกนั้น ที่ไปคิดค้นหาความจริงกันต่างๆ บางคนอาจมีอะไรบางอย่างที่พระองค์จะเรียนรู้ได้บ้าง

เมื่อถึงขั้นนี้ เจ้าชายสิทธัตถะจึงเสด็จออกบรรพชา อย่างพวกสมณะที่มีอยู่แล้วในสมัยนั้น  พระองค์ได้เสด็จไปศึกษาหาความรู้เท่าที่พวกนักบวชสมัยนั้นจะรู้และปฏิบัติกัน ทรงศึกษาทั้งวิธีการแบบโยคะ ทรงบำเพ็ญสมาธิจนได้ฌานสมาบัติ ถึงอรูปสมาบัติชั้นสูงสุด กับทั้งอิทธิปฏิหาริย์อย่างเชียวชาญ ทรงบำเพ็ญตบะทรมานพระองค์

ในที่สุดก็ทรงตัดสินได้ว่า วิธีการของพวกนักบวชเหล่านี้ทั้งหมด ไม่สามารถแก้ปัญหาดังที่พระองค์ทรงประสงค์ได้ เมื่อเทียบกับชีวิตของพระองค์ก่อนเสด็จออกบรรพชาแล้ว ก็นับว่าเป็นการดำรงชีวิตอย่างเอียงสุดทั้งสองฝ่าย  พระองค์ จึงทรงหันมาดำเนินการคิดค้นของพระองค์เอง ต่อมาจนในที่สุดได้ตรัสรู้ ธรรมที่พระองค์ทรงค้นพบนี้ต่อมาเมื่อทรงนำไปแสดงให้ผู้อื่นฟัง ทรงเรียกว่า มัชเฌนธรรมหรือ หลักธรรมสายกลาง  และทรงเรียกข้อปฏิบัติอันเป็นระบบที่พระองค์ทรงบัญญัติขึ้นว่า มัชฌิมาปฏิปทา  หรือ ทางสายกลาง

จากความท่อนนี้ จะมองเห็นทัศนะตามแนวพุทธธรรมว่า การดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างลุ่มหลงหมกมุ่น ปล่อยตัวไปเป็นทาสตามกระแสกิเลส ก็ดี  การหลีกหนีออกไปโดยสิ้นเชิง ไม่เกี่ยวข้องรับผิดชอบอย่างใดต่อสังคม อยู่อย่างทรมานตนก็ดี  นับว่า เป็นข้อปฏิบัติที่ผิด เอียงสุดด้วยกันทั้งสองอย่าง  ไม่สามารถให้มนุษย์ดำรงชีวิตอย่างมีความหมายแท้จริงได้

เมื่อตรัสรู้แล้วเช่นนี้ พระองค์ จึงเสด็จกลับคืนมาทรงเริ่มต้นงานสั่งสอนพุทธธรรมเพื่อประโยชน์แก่สังคมของชาวโลกอย่างหนักแน่นจริงจัง  และทรงดำเนินงานนี้จนตลอด 45 ปี แห่งพระชนม์ชีพระยะหลัง

แม้ไม่พิจารณาเหตุผลด้านอื่น มองเฉพาะในแง่สังคมอย่างเดียว ก็จะเห็นว่า พุทธกิจที่พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญ เพื่อประโยชน์สุขแก่สังคมสมัยนั้น จะสำเร็จผลดีที่สุด ก็ด้วยการทำงานในบรรพชิตเพศเท่านั้น  พระองค์ จึงได้ทรงชักจูงคนชั้นสูงจำนวนมาก ให้ละความมั่งมีศรีสุขออกบวช ศึกษาเข้าถึงธรรมของพระองค์แล้ว ร่วมทำงานอย่างเสียสละอุทิศตนเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ด้วยการจาริกไปเข้าถึงคนทุกชั้นวรรณะ และทุกถิ่นที่จะไปถึงได้ ทำให้บำเพ็ญประโยชน์ได้กว้างขวาง

อีกประการหนึ่ง คณะสงฆ์เองก็เป็นแหล่งแก้ปัญหาสังคมได้อย่างสำคัญ เช่น ในข้อว่า ทุกคนไม่ว่าจะเกิดในวรรณะใด เข้าบวชแล้วก็มีสิทธิเสมอกันทั้งสิ้น

ส่วนเศรษฐี คฤหบดี ผู้ยังไม่พร้อมที่จะเสียสละได้เต็มที่ ก็ให้คงครองเรือนอยู่เป็นอุบาสกอุบาสิกา คอยช่วยให้กำลังแก่คณะสงฆ์ในการบำเพ็ญกรณียกิจของท่าน และนำทรัพย์สมบัติของตนออกบำเพ็ญประโยชน์สงเคราะห์ประชาชนไปด้วยพร้อมกัน

การบำเพ็ญกรณียกิจ ทั้งของพระพุทธเจ้า และ ของพระสาวกมีวัตถุประสงค์และขอบเขตกว้างขวางเพียงใด จะเห็นได้จากพุทธพจน์ ตั้งแต่ครั้งแรกที่ส่งสาวกออกประกาศพระศาสนาว่า

ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงจาริกไป เพื่อประโยชน์และความสุขของชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูล และความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ทั้งหลาย(วินย.4/32/39)

พุทธธรรมนั้นมีขอบเขตในทางสังคมที่จะให้ใช้ได้ และเป็นประโยชน์แก่บุคคลประเภทใดบ้างพึงเห็นได้จากพุทธพจน์ในปาสาทิกสูตร ซึ่งสรุปความได้ว่า

พรหมจรรย์    (คือพระศาสนา)    จะชื่อว่าสำเร็จผลแพร่หลายกว้างขวาง เป็นประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก เป็นปึกแผ่น ถึงขั้นที่ว่าเทวดา และมนุษย์ประกาศไว้ดีแล้ว ต่อเมื่อมีองค์ประกอบต่อไปนี้ครบถ้วน คือ

1. องค์พระศาสดา เป็นเถระ รัตตัญญู ล่วงกาล ผ่านวัยมาโดยลำดับ

2. มีภิกษุสาวก ที่เป็นเถระ มีความรู้เชียวชาญ ได้รับการฝึกฝนอบรมอย่างดี แกล้วกล้า อาจหาญ บรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะ สามารถแสดงธรรมให้เห็นผลจริงจัง  กำราบปรัปวาท (ลัทธิที่ขัดแย้ง หรือวาทะฝ่ายตรงข้าม) ที่เกิดขึ้นให้สำเร็จเรียบร้อยโดยถูกต้องตามหลักธรรม และมีภิกษุสาวกชั้นกลาง และชั้นนวกะที่มีความสามารถเช่นเดียวกันนั้น

3. มีภิกษุณีสาวิกา ชั้นเถรี ชั้นปูนกลาง และชั้นนวกะ ที่มีความสามารถเช่นเดียวกันนั้น

4. มีอุบาสก ทั้งประเภทพรหมจารี และประเภทครองเรือนเสวยกามสุข ซึ่งมีความสามารถเช่นเดียวกันนั้น

5. มีอุบาสิกา ทั้งประเภทพรหมจารินี และประเภทครองเรือนเสวยกามสุข ซึ่งมีความสามารถเช่นเดียวกันนั้น   

เพียงแต่ขาดอุบาสิกาประเภทครองเรือนเสียอย่างเดียว พรหมจรรย์ ก็ยังไม่ชื่อว่าเจริญบริบูรณ์เป็นปึกแผ่นดี. (ดู ปาสารทิกสูตร ที.ปา. 11/104/135. พึงสังเกตความหมาย พรหมจรรย์”  ที่ครอบคลุมผู้ครองเรือนด้วย)

ความตอนนี้แสดงว่า พุทธธรรมเป็นคำสอนที่มุ่งสำหรับคนทุกประเภททั้งบรรพชิต และคฤหัสถ์คือ ครอบคลุมสังคมทั้งหมด.


วันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

นรกของแต่ละศาสดา

       พระพุทธเจ้าเสด็จจาริกถึงหมู่บ้านพราหมณ์ชื่อสาลา   พวกพราหมณ์คหบดีชาวหมู่บ้านนี้  ได้ทราบกิตติศัพท์ของพระองค์     จึงพากันไปเฝ้า    แสดงอาการต่างๆ ในฐานะอาคันตุกะที่ยังไม่ได้นับถือกัน  มีคำสนทนา ดังนี้ 

       พระพุทธเจ้า:  คหบดีทั้งหลาย พวกท่านมีศาสดาท่านใดท่านหนึ่งที่ถูกใจ ซึ่งท่านทั้งหลายมีศรัทธาอย่างมีเหตุผล    (อาการวตีสัทธา)  อยู่บ้างหรือไม่ ?

        พราหมณ์คหบดี ไม่มีเลย  ท่านผู้เจริญ

        พระพุทธเจ้า:  เมื่อท่านทั้งหลาย   ยังไม่ได้ศาสดาที่ถูกใจ  ก็ควรจะถือปฏิบัติหลักการที่ไม่ผิดพลาดแน่นอน (อปัณณกธรรม)    ดังต่อไปนี้    ด้วยว่า   อปัณณกธรรมนี้   เมื่อถือปฏิบัติถูกถ้วน  จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน   หลักการที่ไม่ผิดพลาดแน่นอนนี้เป็นไฉน ?” 

       สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง   มีวาทะ   มีทิฐิว่า:    ทานที่ให้แล้วไม่มีผล   การบำเพ็ญทานไม่มีผล  การบูชาไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำไว้ดีทำไว้ชั่วไม่มี   โลกนี้ไม่มี     ปรโลกไม่มี  มารดาไม่มี   บิดาไม่มี  ฯลฯ  ส่วนสมณพราหมณ์ อีกพวกหนึ่ง   มีวาทะ   มีทิฐิ   ที่เป็นข้าศึกโดยตรงกับสมณพราหมณ์พวกนั้นทีเดียวว่า:     ทานที่ให้แล้วมีผล  การบำเพ็ญทานมีผล   การบูชามีผล   ฯลฯ   ท่านทั้งหลายเห็นเป็นไฉน ?    สมณพราหมณ์เหล่านี้    มีวาทะเป็นข้าศึกโดยตรงต่อกันมิใช่หรือ ?"

     พราหมณ์คหบดี  ใช่อย่างนั้น

      พระพุทธเจ้า  สมณพราหมณ์ ๒ พวกนั้น   พวกที่มีทิฐิว่า   ทานที่ให้แล้วไม่มีผล   การบำเพ็ญทาน ไม่ มีผล ฯลฯ  สำหรับพวกนี้    เป็นอันหวังสิ่งต่อไปนี้ได้   คือ    พวกเขาจะละทิ้ง   กายสุจริต  วจีสุจริต มโนสุจริต  อันเป็นกุศลธรรมทั้ง ๓ อย่างเสีย   แล้วจะยึดถือประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ซึ่งเป็นอกุศลธรรมทั้ง ๓ อย่าง  ข้อนั้น เป็นเพราะเหตุอะไร ?      ก็เพราะท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้น    ย่อมไม่มองเห็นโทษ  ความทราม  ความเศร้าหมอง แห่งอกุศลธรรม และอานิสงส์ในเนกขัมมะ  อันเป็นคุณฝ่ายสะอาดผ่องแผ้วของกุศลธรรม

       ในเรื่องนั้น   คนที่เป็นวิญญูชน  ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า     “ถ้าปรโลกไม่มี   ท่านผู้นี้   เมื่อแตกกายทำลายขันธ์ไป  ก็ทำตนให้สวัสดีได้    แต่ถ้าปรโลกมี   ท่านผู้นี้    เมื่อแตกกายทำลายขันธ์   ก็จะเข้าถึง อบาย   ทุคติ  วินิบาต  นรก   เอาเถอะ   ถึงว่าให้ปรโลกไม่มีจริงๆ   ให้คำของท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้น  เป็นความจริงก็เถิด    ถึงกระนั้น   บุคคลผู้นี้   ก็ถูกวิญญูชนติเตียนได้ในปัจจุบันนี้เอง  ว่า  เป็นคนทุศีล  มีมิจฉาทิฐิ  เป็นนัตถิกวาท   ก็ถ้าปรโลกมีจริง   บุคคลผู้นี้ก็เป็นอันได้แต่ข้อเสียหายทั้งสองด้าน   คือ   ปัจจุบันก็ถูกวิญญูชนติเตียน   แตกกายทำลายขันธ์ไปแล้ว  ก็เข้าถึง อบาย  ทุคติ  วินิบาต  นรก  อีกด้วย  ฯลฯ

   #ดังว่านรกแนวพุทธ ข้างล่างนรกแนวอิสลาม  วิธีสอนวิธีคิดของแต่ละศาสดา ทำยังไงตกนรก

การตัดสินใจทียากที่สุดของชีวิต "เปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนา"

กระทู้นี้ตั้งใจพิมพ์มาเพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นและที่มาที่ไป ไม่ได้มีเจตนาอื่นๆ ใดทั้งสิ้น เพราะยังเคารพนับถือเพื่อนพี่น้องมุสลิมอยู่

ผมเกิดในครอบครัวมุสลิมที่นครศรีธรรมราช พ่อเป็นคนสตูล แม่เป็นคนท่าศาลา พ่อเสียตอนผมอายุ 3 ขวบ ส่วนแม่ก็ไปทำงานที่บาห์เรน ผมจึงอยู่กับตายายมาตลอด และตอนเด็กๆ จึงถูกสอนและฝึกการละหมาด การท่องจำและศึกษาคัมภีร์กุรอานมาตลอด

ตอนอายุประมาณ 6 ย่าง 7 ตากับยายคิดจะส่งผมไปเรียนปอเนาะ แต่มีคนพุทธข้างบ้านแนะนำให้ผมไปเรียนโรงเรียนทั่วไป เพื่อหน้าที่การงานในอนาคต ดังนั้น ผมจึงได้เรียนโรงเรียนทั่วๆไป ตั้งแต่ ป.1 จนถึง ม.6 จึงคลุกคลีอยู่กับวัฒนธรรมบางอย่างของคนพุทธตลอด เช่น การไหว้พระ (ก่อนหน้านั้นไม่ได้ไหว้ เพราะตายายสอนว่าห้ามไหว้เดี๋ยวตกนรก) การไหว้ครู และอื่นๆ ส่วนเรื่องวิถีชีวิต เช่น การละหมาด ผมจะละหมาดที่โรงเรียน 2 ครั้งในช่วงเที่ยง และช่วงก่อนกลับบ้าน หากติดคาบก็จะขออนุญาตคุณครูไปละหมาด ส่วนเรื่องละหมาดวันศุกร์ ก็จะขอลาในตอนเที่ยงเพื่อไปละหมาดและฟังคุตบะฮ์ตลอด แต่ก็ต้องมาศึกษาหาความรู้กันเอาในภายหลังเพื่อให้การเรียนผ่านพ้นไปด้วยดี

หลังจากที่เข้าเรียนในมหาลัย ในฐานะมุสลิม จึงสนใจเหตุการณ์ที่ตะวันออกกลางด้วย จนกระทั่งวันหนึ่งพบข่าวว่า รัสเซียให้ความช่วยเหลือซีเรีย ทำการขับไล่ และโจมตีกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนออกไปจากซีเรีย ผมจึงเกิดความคิดว่า "ทำไมไม่ให้มุสลิมช่วยมุสลิม แต่กลับเป็นคนนอกศาสนาที่ช่วยมุสลิม และช่วยขับไล่พวกมุนาฟิกเสียเอง" ซึ่งสาเหตุที่คิดแบบนี้ เพราะในช่วงนั้น ได้ศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์ของตะวันออกกลางที่กุรอานไม่ได้บอกไว้ ศึกษาความเป็นมาของทั้งศาสนาอิสลาม คริสต์ ยิว ที่นอกเหนือไปจากกุรอาน อ่านจากทั้งในหนังสือและในอินเทอร์เน็ต

จนพบว่า ศาสนาอิสลาม แท้จริงแทบจะเป็นหนึ่งเดียวกับศาสนาคริสต์ และยิว เพียงแต่มันเป็นการแยกความคิดแตกใหม่ และซับซ้อนมาก และมาในรูปแบบประมาณว่า ถ้ายิวต้องให้ทำสุหนัต คริสต์จะบอกว่าไม่จำเป็นต้องทำ หรือต้องทำก็ได้ขึ้นอยู่กับว่าเป็นนิกายไหน ส่วนอิสลามจะกลับมาบังคับ ว่า ต้องทำทุกนิกายทุกมัชฮับ ซึ่งทำให้รู้สึกสับสนว่าอันไหนผิดถูกจนไม่ได้คิดอีกไประยะหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ได้อ่านข่าวที่รัสเซียให้ความช่วยเหลือซีเรีย ทำให้ย้อนคิดถึงเรื่องราวก่อนหน้านี้ อิสลามซึ่งเคยชนะ และทำให้ผู้คนในหลายเผ่าในดินแดนอาหรับเลื่อมใสศรัทธา ทั้งยังชนะพวกครูเสดได้

แต่ทำไมต้องแยกเป็นซุนนีและชีอะฮ์ ทำไมต้องเกิดความขัดแย้งกันเองตลอด ทำไมจึงต้องเกิดกลุ่มซาลาฟี (หรือที่หลายๆ คนรู้จักในชื่อ วาฮะบีย์) ทำไมปาเลสไตน์จึงต้องหายไป และกลายเป็นอิสราเอลแทน นั้นทำให้เริ่มสงสัยว่าบททดสอบของอัลลอฮ์นั้นจะยาวนาน และโหดร้ายไปอีกนานสักแค่ไหน

จึงย้อนกลับมาดูทางคริสต์ ซึ่งไปรุ่งเรืองในแผ่นดินยุโรป พบว่าคริสต์หลังยุคอาณาจักรโรมันนั้นแทบจะเป็นยุคมืด ศาสนจักรครอบงำผู้คน ชักชวนผู้คนรบราฆ่าฟันกับกลุ่มมุสลิม บ้างก็ใช้ความรุนแรงต่อผู้ที่ขัดแย้งกับศาสนจักร ผ่านไปหลายศตวรรษ กลายเป็นว่าเมื่อถึงยุคเรเนซองส์ ความขัดแย้งทางศาสนาแทบจะหายไป วิทยาศาสตร์ ปรัชญา วิทยการที่เจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ผู้คนเริ่มขัดแย้งกันน้อยลง ศาสนาก็ห่างจากชีวิตผู้คนในยุโรปมากขึ้น ในขณะที่วิทยาศาสตร์ที่เคยเจริญรุ่งเรืองในอาหรับก็ค่อยๆ หายไป แถมบางครั้งยังถูกมองว่าขัดแย้งกับศาสนาอีก จนกลายเป็นว่าปัจจุบัน ยุโรปในตอนนี้ เริ่มแยกจากศาสนาได้สำเร็จ และสามารถพัฒนาตัวเองเป็นผู้นำโลกได้

ส่วนโลกอาหรับนั้นแทบไปไม่ถึงไหน โดยเฉพาะตั้งแต่หลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นต้นมานั้น ชาติอาหรับก็เกิดความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด

ในช่วงแรกนั้น ด้วยความที่ยังเกรงกลัวสิ่งที่เรียกว่าพระเจ้าอยู่ จึงคิดจะไปนับถือศาสนาคริสต์ แต่ก็พักความคิดชั่วระยะหนึ่ง เพราะต้องการเลือกศาสนาของตัวเองจริงๆ ตัวเองเลือกที่จะไม่นับถือศาสนาอะไรเลยก็ได้ แต่ตัวเองไม่เลือก เพราะเข้าใจว่า ชีวิตทางโลกนั้น ควรมีชีวิตทางธรรมที่ละเอียดลึกซึ้งเข้าด้วย จึงจะใช้ชีวิตได้อย่างสงบสุขโดยแท้จริง

(เนื่องจากส่วนตัวคิดว่า กลุ่มคนไม่มีศาสนานั้น ใช้ชีวิตโดยไม่คิดอะไรมากมาย และทำๆ ไปตามที่ใจต้องการ และมีปรัชญาชีวิตที่เน้นจากเรื่องราวทางโลกเกือบล้วนๆ ซึ่งคงไม่ใช่แนวทางของตัวเองที่ต้องการแสวงหาทางสว่าง และความสงบสุขในจิตใจอยู่ตลอดเวลา)

จึงตัดสินใจศึกษาพระพุทธศาสนา จนค้นพบสัจธรรมว่า การจะเป็นคนที่ดีได้นั้น ไม่จำเป็นต้องเชื่อในพระเจ้า ไม่จำเป็นต้องต้องเชื่อคำสอน และทำตามคัมภีร์ ขอเพียงแค่ประพฤติดีทั้งกาย วาจา ใจ เท่านั้นก็เพียงพอสำหรับความสงบสุข

พระพุทธศาสนาเปิดโลกที่ผมไม่เคยเห็นไม่เคยเจอมาก่อน เป็นศาสนาที่สอนให้คนพิสูจน์มากกว่าบังคับเชื่อ เป็นศาสนาที่สอนให้คนเน้นจิตใจที่บริสุทธิ์มากกว่าการห้ามกิน หรือ ห้ามทำสิ่งนั้นนี้ที่ไม่ได้ร้ายแรงอะไร เป็นศาสนาที่ไม่บังคับการเข้าศาสนสถาน

หลังจากที่ตัวเองได้ศึกษาจนถี่ถ้วนแล้ว จึงตัดสินใจบอกกับตัวเองว่า เราจะไม่ใช่มุสลิมแล้ว แต่เราจะเป็นชาวพุทธ แต่ในตอนนั้น ยังไม่คิดทำอะไรมาก จึงคิดจะไปบอกแม่ ปู่ย่าตายาย ที่เป็นมุสลิม แน่นอนว่า ทุกคนรู้สึกตกใจ และไม่อยากให้ผมเลิกศรัทธาต่ออัลลอฮ์ เพราะกลัวว่าเมื่อถึงวันกียะมะฮ์แล้วผมจะต้องตกไฟนรกไปตลอดกาล (ตามความเชื่อของอิสลาม เมื่อเสียชีวิตแล้ว จะต้องไปอยู่ในโลกแห่งการรอคอย ที่ดวงวิญญาณจะรออยู่จนถึงวันพิพากษา แล้วเมื่อวันนั้นมาถึง อัลลอฮ์จะพิจารณาตัดสินความดีชั่วที่คนผู้นั้นเคยทำไว้เมื่อยังอยู่ในโลกดุนยา หรือโลกมนุษย์เราปัจจุบัน ผู้ที่ทำความดีไว้มาก จะได้ขึ้นสวรรค์ และพำนักอยู่ในสวรรค์ถาวร ส่วนผู้ที่ทำความชั่ว จะต้องตกไฟนรกไปชั่วนิรันดร ซึ่งนอกจากอิสลามแล้วคริสต์และยิวก็เชื่อความเชื่อนี้ด้วยเช่นกัน)

ผมบอกกับทุกคนว่า อินชาอัลลอฮ์ หมายถึงว่า ถ้าอัลลอฮ์ประสงค์ และสำแดงประจักษ์ให้ได้ตระหนักถึงพระองค์ ผมก็จะพร้อมที่จะไปรับอิสลามอีกครั้ง และเชื่อมั่นว่าหากอัลลอฮ์เป็นผู้ทรงเปี่ยมเมตตา ก็จะทรงมีเมตตาอยู่เสมอตราบที่มีลมหายใจอยู่

ตั้งแต่ที่พูดไปในตอนนั้น ปู่ย่าก็ไม่ได้ติดต่อหาผมอีก (ปกติก็ไม่ค่อยติดต่อกันอยู่แล้ว เพราะไม่ค่อยผูกพันอะไรมาก) ส่วนแม่ ตายาย ได้แต่หวังว่าผมจะกลับไปรับอิสลามอีกครั้ง แต่ความจริงก็คือ ผมไม่มีความคิดนั้นเหลือแล้ว ผมเชื่อมั่นในพระพุทธศาสนา และลึกซึ้งกับธรรมะที่ได้ศึกษาจนยากที่จะกลับไปเป็นมุสลิม

สิ่งที่บอกมาทั้งหมด ไม่ได้ต้องการให้มุสลิมที่ยังศรัทธาในอัลลอฮ์ ต้องหันมานับถือพุทธกันอย่างไร้เหตุผล เพราะเชื่อว่าไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะสำหรับคนที่เคร่งครัดมาตั้งแต่เกิด

เคยมีกรณีคนที่มานับถือพุทธแต่ก็กลับไปนับถืออิสลามอีก เพราะเกรงกลัววันพิพากษา กลัวว่าตัวเองจะต้องตกไฟนรก ซึ่งส่วนตัวมองว่า ตัวเองทำแต่ความดี จิตใจบริสุทธิ์ ก็มากพอแล้วที่พระเจ้าจะเมตตา และยังเชื่อมั่นในพระเมตตาเสมอว่าจะไม่ทำแบบนั้น หากประพฤติดีทั้งกาย วาจา ใจ



 


งดใช้บริการ

  https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_3724456 https://www.facebook.com/photo/?fbid=491527119790156&set=a.433526435590225 https:...